ราคาอาหารโลกทะยานโอกาส/ความเสี่ยงธุรกิจไทย

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

กฤชนนท์ จินดาวงศ์
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

 

ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของ COVID-19 ราคาอาหารโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีราคาอาหารโลกในเดือกรกฎาคม 2021 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 123.0 หรือเพิ่มขึ้น 30% YOY ซึ่งสาเหตุที่ราคาอาหารของหลายประเทศพุ่งขึ้นสูง เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้เกิดข้อจำกัดในกระบวนการขนส่งสินค้า รวมถึงสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกในสหรัฐอเมริกา และทวีปอเมริกาใต้ ส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญของโลก เช่น อ้อย ข้าวโพด ถั่วเหลือง

นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีคำถามที่น่าสนใจ คือ สถานการณ์ราคาอาหารโลกที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วจะส่งผลต่อผู้ประกอบการไทยอย่างไร ? ควรปรับตัวอย่างไร ?

ก่อนอื่นคงต้องมาดูก่อนว่าราคาสินค้าเกษตรและอาหารสำคัญของไทยเคลื่อนไหวเป็นอย่างไรบ้าง ?

ภาพรวมราคาส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยช่วงครึ่งปีแรกปี 2021 ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ข้อมูลเดือนมิถุนายน ราคาสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น ราคาส่งออกน้ำตาลทรายปรับตัวเพิ่มขึ้น 45% YOY ตามราคาน้ำตาลตลาดโลก ราคาส่งออกแป้งมันสำปะหลังปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 เพิ่มขึ้น 15% YOY

อย่างไรก็ตาม ราคาส่งออกข้าวสารปรับลดลง โดยข้าวหอมมะลิลดลง 31% YOY เช่นเดียวกับข้าวขาวลดลง 10% YOY ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยต้องนำเข้าปรับเพิ่มขึ้น เช่น ราคานำเข้ากากถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น 34% YOY ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น 99% YOY

กลับมาคำถามที่ว่า สถานการณ์ราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะส่งผลต่อผู้ประกอบการไทยอย่างไร ?

ในระยะสั้น ผู้ส่งออกสินค้าในกลุ่มเกษตรและอาหารที่สำคัญของไทยจะได้ประโยชน์จากราคาส่งออกที่เพิ่มขึ้น เช่น ผู้ส่งออกน้ำตาลที่ได้รับผลดีจากราคาส่งออกน้ำตาลที่ทะยานขึ้นต่อเนื่อง แม้ผลผลิตอ้อยยังอยู่ในระดับต่ำ เช่นเดียวกับผู้ส่งออกมันสำปะหลังที่นอกจากจะได้อานิสงส์จากราคาที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังได้รับผลดีจากสต๊อกข้าวโพดจีนที่ลดลง ทำให้ราคาแป้งข้าวโพดจีนแพงกว่าราคาส่งออกแป้งมันสำปะหลังไทยมาก ส่งผลให้ผู้ผลิตจีนหันมานำเข้าแป้งมันสำปะหลังจากไทยมากขึ้น

ธุรกิจที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบสินค้าเกษตรจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น เช่น การผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งต้องใช้กากถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวัตถุดิบในการผลิต โดยผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์ไทยมีต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบถึง 80% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด กระทบต่อเนื่องไปยังผู้เลี้ยงสัตว์ เนื่องจากอาหารสัตว์คิดเป็นต้นทุนถึง 60-70% ของต้นทุนในการเลี้ยงสัตว์ และหากผู้นำเข้าหันมาต่อรองราคาสินค้าก็อาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ โดยเฉพาะไก่เนื้อ ซึ่งพึ่งพาการส่งออกถึง 60% ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของไทย

นอกจากนั้นราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นไปพร้อมกับราคาน้ำมันในตลาดโลก อาจทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิงวัตถุดิบระหว่างภาคอาหารและพลังงาน

สำหรับไทยเองแม้มีศักยภาพและความพร้อมในการปลูกพืชพลังงานที่สำคัญ โดยเฉพาะอ้อยและมันสำปะหลัง แต่ราคาวัตถุดิบที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ผู้ประกอบการแย่งชิงวัตถุดิบกันจนเกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ และทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มโรงงานผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลที่ปัจจุบันเผชิญแรงกดดันด้านวัตถุดิบอยู่แล้ว เนื่องจากผลผลิตกากน้ำตาลลดลงตามปริมาณผลผลิตอ้อยที่มีจำกัดจากปัญหาภัยแล้งในปีก่อน

ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงนี้จะส่งผลต่อเงินเฟ้อของไทยค่อนข้างจำกัด เนื่องจากภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนในช่วงการระบาดของโควิด-19 และควบคุมราคาสินค้า อีกทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ทำให้ผู้ประกอบการยังไม่สามารถผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปให้ผู้บริโภคได้เต็มที่

ขณะที่แม้ราคาอาหารสดในกลุ่มปศุสัตว์และผลไม้จะเพิ่มขึ้น แต่ราคาข้าวสารเจ้าและผักสดลดลง ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2021 เพิ่มขึ้นเพียง 0.8% YOY จึงคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปี 2021 จะอยู่ที่ 1.0-1.2%

สำหรับในระยะกลาง-ยาว (ช่วงปี 2022-2027) ผู้เขียนมองว่า ประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตรจะหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลผลิตในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในตลาดสินค้าเกษตรโลก เช่น จีน ที่มีนโยบายเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง (self sufficiency) โดยเฉพาะข้าวที่จีนมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีผลผลิตต่อไร่สูงถึง 3,600 กิโลกรัม

ทำให้ในระยะต่อไปจีนจะมีผลผลิตข้าวมากจนเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ และมีเหลือมากพอสำหรับการส่งออก ซึ่งจะทำให้ตลาดค้าข้าวโลกมีการแข่งขันรุนแรงขึ้น และกระทบกับความสามารถในการแข่งขันการส่งออกข้าวไทยซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าคู่แข่งอยู่แล้ว

เช่นเดียวกับประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าสำคัญของไทยในสินค้าเกษตรกลุ่มข้าวและน้ำตาล ที่มีนโยบายด้านความมั่นคงทางอาหารโดยการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในประเทศให้เพียงพอกับการบริโภค และลดการพึ่งพาการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศลง

ยกตัวอย่างเช่น นโยบายสนับสนุนให้เกษตรกรปรับใช้เทคโนโลยีในการเพาะปลูกข้าว ส่งผลให้ในปี 2019 ผลผลิตข้าวอินโดนีเซีย สูงถึงประมาณ 820 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อเทียบกับในช่วงปี 2000-2018 มีผลผลิตเฉลี่ย 780 กิโลกรัมต่อไร่

ซึ่งในระยะต่อไป หากผลผลิตข้าวในอินโดนีเซียมีเพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศก็จะทำให้เป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการส่งออกข้าวของไทย

จากราคาอาหารโลกที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรปรับตัวอย่างไร ?

ประการแรก แม้ไทยเป็นประเทศที่ส่งออกอาหารสุทธิจึงได้รับประโยชน์จากราคาอาหารโลกที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีสินค้าเกษตรและอาหารบางประเภทที่ไทยผลิตในประเทศได้ไม่เพียงพอ และต้องพึ่งพิงการนำเข้า เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ดังนั้นไทยควรนำเทคโนโลยีเกษตรมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้นในสินค้าที่ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ เช่น การใช้เทคโนโลยี IOT หรือเซ็นเซอร์วิเคราะห์แร่ธาตุในดินเพื่อเป็นแนวทางให้เกษตรกรสามารถเลือกชนิดปุ๋ยที่เหมาะสมกับสภาพดิน หรือประยุกต์ใช้ biotechnology มาช่วยในการปรับปรุงสายพันธุ์พืชให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น

ประการที่สอง ผู้ประกอบการในกลุ่มกลางน้ำที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบในการผลิตควรให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้น และวางแผนบริหารจัดการสต๊อกให้มีความเหมาะสม รวมถึงการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า อีกทั้งอาจมีการปรับเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบอื่นที่มีต้นทุนถูกกว่าในการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงในอนาคตหากต้นทุนวัตถุดิบมีแนวโน้มทะยานจนส่งผลกระทบกับอัตรากำไร

ประการสุดท้าย ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการวางนโยบายที่ชัดเจนโดยเฉพาะการจัดโซนนิ่งในการเพาะปลูกพืชที่เป็นอาหารกับการปลูกพืชเพื่อผลิตพลังงานทดแทน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงด้านวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ภาครัฐควรวางแผนจัดการห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจพลังงานทดแทน ตั้งแต่ด้านวัตถุดิบ การผลิต การตลาด รวมทั้งการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้การผลิตและความต้องการใช้พลังงานชีวภาพมีความสมดุลกัน

โดยสรุปแล้ว ผู้เขียนมองว่า ไทยจะยังได้ประโยชน์จากราคาอาหารโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ภาพรวมมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารในปี 2021 ขยายตัวดี สำหรับในระยะข้างหน้ายังมีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Delta ในประเทศที่อาจทำให้เกิดปัญหา supply disruption ขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตและการส่งออก รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ช่วงปีที่แล้วต่อเนื่องไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2021