ชิงสุกก่อนห่าม ระวัง Wave 5

ฉีดวัคซีน
เครดิตภาพ : กทม.
คอลัมน์ สามัญสำนึก
สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

 

จะเรียกว่า “คลายล็อก” หรือ “ปรับมาตรการ” ก็ถือว่าเป็นข่าวดีของประชาชนและธุรกิจที่จะสามารถทำมาหากิน

แม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศไทยจะเริ่มชะลอลง ล่าสุด (31 ส.ค.) ต่ำกว่า 1.5 หมื่นคน และผู้เสียชีวิตต่ำกว่า 200 คน แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับสูง

ขณะที่ก่อนหน้านี้สำนักวิจัยหลายแห่งประเมินว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) น่าจะเริ่มคลายล็อกช่วงปลายกันยายน-ต้นตุลาคมนี้

เนื่องจากอัตราการฉีด “วัคซีน” ของคนไทยยังอยู่ในระดับต่ำ การล็อกดาวน์หรือการจำกัดกิจการเศรษฐกิจจึงมีความจำเป็น เพราะป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

แต่การที่ ศบค.ใจถึง เดินหน้าเปิดเมือง ประกาศคลายล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่เปิดสนามกีฬา สวนสาธารณะ ร้านตัดผม ร้านสปา ไปจนถึง เปิดห้าง และให้นั่งกินในร้านอาหารได้ถึง 75%

ทั้งที่เมื่อต้นเดือนสิงหาคม แค่การเปิดให้ร้านอาหารในห้างขายดีลิเวอรี่ ยังวุ่นวายเป็นปัญหากันอยู่หลายวัน

แต่ครั้งนี้ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก เมื่อ 26 สิงหาคม เห็นชอบและนำเสนอที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันที่ 27 สิงหาคม เคาะประกาศให้มีการคลายล็อก 1 กันยายนนี้ทันที

ขณะที่หลายฝ่ายยังไม่มีความพร้อมและไม่มีความเข้าใจในการร่วมอยู่กับโรคระบาดอย่างแท้จริง และอาจเป็นการส่งสัญญาณที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดถึงสถานการณ์โรคระบาดด้วย

จนทำให้เกิดความกังวลว่าคลายล็อกครั้งนี้ จะกลายเป็นการเปิดช่องให้เกิด wave 5 และทำให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับสถานการณ์ปิด ๆ เปิด ๆ อีกระลอก

แม้ว่าการคลายล็อกจะเป็นแรงกดดันจากสมาคมธุรกิจต่าง ๆ เพราะการล็อกดาวน์หยุดกิจกรรมเศรษฐกิจทำให้ไม่มีรายได้หล่อเลี้ยงธุรกิจ

แต่การประกาศคลายล็อก 1 กันยายนนี้ ก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่รวดเร็ว และคลายมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์

แม้กระทั่ง นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ที่เข้ายื่นหนังสือต่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข ขอให้ร้านอาหารสามารถเปิดนั่งทานได้ ยังระบุว่า การเปิดให้นั่งทานในร้านอาหารได้ 50% (ติดแอร์) 75% (ไม่ติดแอร์) ถือว่ามากกว่าที่ผู้ประกอบการคาดหวัง

อย่างไรก็ดี การคลายล็อก แน่นอนว่ามีเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการต้องทำตามมาตรฐานเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

โดยเฉพาะประเด็นที่ผู้ให้บริการ พนักงานทุกคนต้องฉีดวัคซีน 2 เข็ม รวมถึงผู้เข้าใช้บริการก็จะต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน รวมทั้งพนักงานจะต้องตรวจเชื้อด้วย ATK ทุก ๆ สัปดาห์

ที่หมายถึงภาระ “ต้นทุน” ที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ ขณะที่ยังไม่มั่นใจว่าเปิดร้านแล้วยอดขายจะคุ้มหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติ ที่เรียกว่า COVID free setting ที่เชื่อว่าผู้ประกอบการจำนวนมากยังไม่เข้าใจ

เพราะจากที่ติดตามข้อมูลข่าวสารพบว่า ผู้ประกอบการจำนวนมากยังสับสนกับมาตรการและแนวปฏิบัติของ ศบค.

ขณะที่การฉีดวัคซีนก็ยังไม่ทั่วถึง จึงเกิดคำถามจากผู้ประกอบการจะให้ทำอย่างไร

เข้าใจว่านี่คือนโยบายใหม่ในการ “อยู่ร่วมกับโควิด” แต่สิ่งสำคัญก็คือความพร้อมและความเข้าใจของทุกภาคส่วน

และนอกจากการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนถึงนโยบายและวิธีการปฏิบัติตัวแล้ว รัฐบาลและ ศบค.ต้องเตรียมเครื่องมือด้านสาธารณสุขที่สำคัญคือ “วัคซีน” และอีกตัวคือชุดตรวจ ATK เพื่อให้ประชาชนได้ตรวจสอบตัวเอง ไม่ทำให้เกิดการแพร่ระบาด เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเปิดช่องให้การระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม หวังว่าการตัดสินใจของ ศบค.และจะเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง และมีแผนรองรับอย่างชัดเจน ไม่ได้เอาเหตุผลทางการเมืองมาใช้บริหารชีวิตคนไทย