Sharing Economy เทรนด์แบ่งปันในธุรกิจอาหารมาแรง

มองข้ามชอต

โชติกา ชุ่มมี
EIC ธ.ไทยพาณิชย์

sharing economy หรือ “แนวคิดเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน” เป็นหนึ่งในโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ที่น่าจับตามองในปัจจุบัน โดยมีแนวคิดสำคัญคือ การทำธุรกิจแบบ peer-to-peer (P2P) ซึ่งเป็นการจับคู่กันระหว่างผู้ให้บริการ (service provider) ที่มีทรัพยากรหรือทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้งาน หรือมีมากเกินความจำเป็นกับผู้บริโภคที่ต้องการใช้สินค้าหรือบริการนั้น ๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคแทนการซื้อสินค้าหรือบริการนั้นเป็นของตัวเอง

อีกทั้งยังเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับผู้ให้บริการอีกด้วย ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบของการเช่าหรือการยืมใช้ชั่วระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยมีแพลตฟอร์มหลักในการเชื่อมโยงธุรกรรมผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อทำให้ทรัพยากรหรืทรัพย์สินเหล่านั้นถูกนำมาใช้หรือจัดสรรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนรุ่นใหม่อย่างกลุ่ม Gen Z หรือกลุ่ม millennials คือกลุ่มคนที่เป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตของโมเดลธุรกิจรูปแบบนี้ ซึ่งเป็นผลจากความคุ้นเคยในเรื่องเทคโนโลยี รวมทั้งแรงจูงใจในเรื่อง circular economy และการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงการตระหนักเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาวะโลกร้อนมากกว่าคนรุ่นก่อน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการผลิตและการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น อันจะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ

ตัวอย่างของโมเดลธุรกิจในลักษณะนี้ที่หลาย ๆ คนอาจจะคุ้นเคยกันดี เช่น Uber, Grab, Airbnb, Car Sharing, Co-Working Space เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นรูปแบบธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่และกำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ สอดคล้องกับ PWC ที่คาดการณ์ว่ามูลค่าธุรกิจ sharing economy ทั่วโลกจะเติบโตขึ้นไปอยู่ที่ 335,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ราว 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

หากหันมามองในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เราจะพบว่าเริ่มมีการนำแนวคิดเรื่อง sharing economy มาปรับใช้แล้ว ซึ่งตัวอย่างหนึ่งที่ค่อนข้างชัดเจนและเริ่มแพร่หลายมากขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ คือ shared kitchen หรือครัวกลาง ซึ่งจะเป็นการให้บริการเช่าพื้นที่ครัวส่วนกลางและอุปกรณ์ทำครัวแบบอุตสาหกรรมเพื่อประกอบธุรกิจร้านอาหาร โดยอาจจะรวมถึงการให้บริการเสริมอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ การทำ branding, จัดซื้อวัตถุดิบ, บรรจุและจัดส่งอาหาร, วิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคและทำการตลาด หรือแม้แต่การให้บริการซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจอาหารอีกด้วย

ซึ่งนอกจากจะช่วยลดภาระของผู้ประกอบการแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนและลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจลงได้อีกด้วย โดยเฉพาะในส่วนของต้นทุนคงที่ ซึ่งสามารถแชร์กับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่หน้าร้านหรือพื้นที่ครัวเป็นของตัวเอง นอกจากนี้ หลายประเทศในแถบยุโรปยังมีบริการรับจ้างผลิตอาหารให้กับแบรนด์ร้านอาหารดัง ๆ เพื่อจัดส่งในรูปแบบ delivery อีกด้วย

ความจริงแล้วแนวคิดเรื่อง sharing economy ในธุรกิจ foodservice ไม่ใช่เรื่องที่ใหม่ แต่เกิดขึ้นในต่างประเทศมาหลายปีแล้ว และมีหลากหลายรูปแบบที่น่าสนใจ ตัวอย่างเช่น “Eatwith” ซึ่งเป็น food application ที่จับมือร่วมกับพันธมิตรอย่าง Airbnb เพื่อตอบโจทย์ทั้งในเรื่องที่พักและอาหาร โดยนักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการจาก localhost

ในท้องถิ่นเพื่อจัดเตรียมอาหารให้ในลักษณะ one-off meal โดยจะมาร่วมรับประทานอาหารกับเจ้าบ้านในฐานะแขกของบ้านหลังนั้นอย่างเป็นกันเอง ซึ่งพบว่านักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ชื่นชอบแนวคิดนี้มากเพราะเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่แตกต่างจากการไปรับประทานตามร้านอาหารทั่วไป โดยพบว่าปัจจุบัน eatwith ให้บริการครอบคลุมในกว่า 130 ประเทศทั่วโลกแล้ว อีกทั้งยังขยายรูปแบบการให้บริการไปสู่คอร์สสอนทำอาหารท้องถิ่น รวมทั้งการจัดเตรียมอาหารกล่องสำหรับปิกนิกให้นักท่องเที่ยวด้วย

นอกจากนี้ แนวคิดเรื่อง food sharing ยังมีส่วนช่วยลด food waste หรือขยะอาหาร ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในหลายเมืองทั่วโลกอีกด้วย ทั้งนี้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประเมินว่า ราว 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตออกมาถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะอาหาร

โดยล่าสุดในปี 2020 มีปริมาณมากถึงกว่า 1,300 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่าราว 6.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับเป็นปริมาณที่มากเพียงพอที่จะเลี้ยงคนได้ถึงกว่า 3 พันล้านคน ซึ่งหากเราสามารถบริหารจัดการปริมาณอาหารส่วนเกินดังกล่าวได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดก็จะส่งผลดีทั้งต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมผ่านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย ข้อมูลของ FAO ระบุว่า การผลิตขยะอาหารเหล่านี้นำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 4.4 จิกะตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคคมนาคมเลยทีเดียว

หัวใจสำคัญของการลดขยะอาหารคือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารจัดการห่วงโซ่อาหารตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ โดยพบว่าปัจจุบันมีสตาร์ตอัพหลายรายที่พัฒนา food application เพื่อแก้ไขปัญหานี้

ตัวอย่างเช่น “Too Good To Go” สัญชาติอังกฤษ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้ร้านอาหารนำอาหารที่เหลือในแต่ละวันมาขายต่อให้กับผู้บริโภคในราคาถูก แต่ผู้บริโภคจะยังไม่รู้ว่าเมนูอาหารที่เหลือคืออะไรจนกว่าจะไปรับอาหารเองก่อนเวลาร้านปิด ซึ่งจุดเด่นของ Too Good To Go คือจำนวนร้านอาหารที่เป็นพาร์ตเนอร์มากกว่า 38,500 ร้าน โดยพบว่าหลังจากเปิดใช้งานได้เพียง 3 ปี แอปพลิเคชั่นนี้สามารถช่วยกู้ชีวิตอาหารจากร้านอาหารก่อนจะถูกทิ้งไปได้ถึงมากกว่า 30 ล้านมื้อ

จนถูกยกให้เป็นหนึ่งในโมเดลลดขยะอาหารที่ประสบความสำเร็จที่สุดของยุโรป และถูกนำไปใช้ในกว่า 15 ประเทศทั่วโลก แม้แต่ญี่ปุ่นเองก็ได้นำโมเดลดังกล่าวนี้ไปปรับใช้ ภายใต้แอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า “TABETE” แต่ความแตกต่างคือ ร้านอาหารพาร์ตเนอร์ของ TABETE จะต้องถ่ายภาพของเมนูอาหารที่เหลือหรือคาดว่าจะเหลือในแต่ละวันลงบนแอปพลิเคชั่นก่อน จากนั้นจึงเปิดขายดีลให้กับผู้บริโภคที่สนใจต่อไป โดยพบว่าหลังจากเปิดใช้งานเพียง 1 ปี ก็มีร้านอาหารเข้าร่วมโครงการมากถึงกว่า 3,000 ร้าน เพราะสอดคล้องกับแนวคิดรักษ์โลก และการแก้ไขปัญหาขยะอาหารเหลือทิ้งในระยะยาวได้เป็นอย่างดี

OLIO คืออีกหนึ่งแอปพลิเคชั่นจากอังกฤษ ที่มุ่งเน้นการลดขยะอาหารที่เกิดขึ้นในครัวเรือน ซึ่งเกิดจากทั้งอาหารที่ปรุงแล้วรับประทานไม่หมด หรือแม้แต่วัตถุดิบที่ซื้อมาแล้วใช้งานไม่ทัน โดยแอปพลิเคชั่นดังกล่าวนี้จะเปิดโอกาสให้คนในชุมชนหรือละแวกใกล้เคียงสามารถแบ่งปันอาหารและของเหลือใช้ต่าง ๆ ในครัวเรือน ทั้งอาหารที่ปรุงแล้ว วัตถุดิบเหลือใช้ ผักที่ปลูกเอง ไปจนถึงของใช้ทั่วไปกับเพื่อนบ้านผ่านการ request และยืนยันตัวตนในแอปพลิเคชั่นเพื่อนัดหมายเวลาและสถานที่ในการรับของเหล่านั้น

ซึ่งนอกจากจะช่วยลดขยะอาหารในครัวเรือนแล้ว ยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้านและคนในชุมชนผ่านการแบ่งปันอีกด้วย ซึ่งปัจจุบัน OLIO ทำให้เกิดการแบ่งปันอาหารไปแล้วกว่า 2.9 ล้านมื้อ และกลายเป็นอีกหนึ่งโมเดลในการลดขยะอาหารที่ประสบความสำเร็จไปทั่วโลกเช่นกัน

ถึงแม้ว่าโมเดล food sharing ที่ครบวงจรและเป็นระบบแบบนี้อาจจะยังไม่เกิดขึ้นในไทย แต่เชื่อว่าน่าจะเป็น The next frontier สำหรับแนวคิดเศรษฐกิจแบบแบ่งปันในธุรกิจอาหารที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะตอบโจทย์แนวคิดรักษ์โลกแล้ว ยังเป็นโมเดลธุรกิจในยุคเศรษฐกิจแบบแบ่งปันที่สร้างความสุขใจทั้งแก่ผู้ให้และผู้รับอีกด้วย