ช่วยกันรอดไปด้วยกัน

Photo by Mladen ANTONOV / AFP
คอลัมน์ สามัญสำนึก
ดิษนีย์ นาคเจริญ

วิกฤตต้มยำกุ้งผ่านมากว่า 20 ปีแล้ว ใครทันคงพอจำความหนักหนาสาหัสของวิกฤตรอบนั้นได้ บริษัทใหญ่ นักธุรกิจใหญ่ ๆ จำนวนมากต่างตกอยู่ในสภาพ “หนี้สินล้นพ้นตัว” วลี “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” ที่จำกันได้จนถึงทุกวันนี้ ก็มาจากวิกฤตต้มยำกุ้ง

ไม่น่าเชื่อว่าวิกฤตปี 2540 ที่ว่าหนักยังไม่เท่า “โควิด-19” แถมรอบนี้ยังส่งผลกระทบไปทั่ว โดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก แน่นอนว่ามนุษย์เงินเดือนก็ไม่รอด ไม่ใช่แค่ปัญหาปากท้องจากสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ แต่วิถีชีวิตของผู้คนต้องปรับโหมดสู่นิวนอร์มอล ทั้งเรียนและทำงานที่บ้าน

ใครที่ต้องทำงานที่บ้านตั้งแต่โควิดระลอกแรกถึงวันนี้ น่าจะเข้าใจดีว่าโลกการทำงานหลัง “โควิด” คงไม่กลับไปเหมือนเดิมแน่ ๆ แต่ก่อนจะไปถึงวันนั้น ซึ่งไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหน หรือบ้างก็ว่าเราน่าจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับ “โควิด” ให้ได้มากกว่า

ก็ว่ากันไป แต่สำหรับคนอีกจำนวนมาก แค่ประคับประคองตัวให้รอดถึงวันเปิดประเทศตามเป้าหมาย 120 วันของรัฐบาลได้ ซึ่งตามไทม์ไลน์คือในเดือน ต.ค.อีกแค่เดือนกว่า ๆ ก็ยังไม่ง่าย

วิกฤตโควิด-19 กระทบคนตัวเล็ก-ธุรกิจเล็กมากถึงมากที่สุด ส่วนหนึ่งเพราะธุรกิจใหญ่ที่รอด “ต้มยำกุ้ง” มาได้ ต่างได้บทเรียนมาแล้วจึงระมัดระวังเรื่องการลงทุน ทั้งปรับตัวรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเข้าใจดีว่า “cash is king-เงินสดสำคัญที่สุด”

คิดเร็ว และทำทันที สำคัญมาก

แคมเปญ “แสนสิริผ่อนให้” นานสูงสุด 24 เดือนที่ออกมาสร้างความฮือฮาช่วงโควิดระลอกแรก เป็นตัวอย่างของการปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ทำให้บริษัททำยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2563 และตุนเงินสดมาไว้ในมือได้เป็นกอบเป็นกำ ด้วยกลยุทธ์ speed to market หรือการปรับตัวอย่างรวดเร็วให้เหมาะกับสภาพตลาด ควบคู่ไปกับ customer centric-การใช้มุมมองลูกค้าเป็นตัวตั้ง และ cash flow เน้นขาย และโอนเพื่อนำกระแสเงินสดเข้าบริษัท

เท่านั้นยังไม่พอ “เศรษฐา ทวีสิน” แม่ทัพแสนสิริ บอกว่า ในฐานะบริษัทใหญ่คงไม่สามารถคิดแค่เรื่องธุรกิจอย่างเดียวได้ แต่ต้อง speed to market กับการช่วยเหลือภาคสังคมด้วย

ไม่ใช่ลุกขึ้นมาทำเองอย่างเดียว ยังเรียกร้องให้บริษัทที่พอมี “กำลัง” ลุกขึ้นมาร่วมด้วยช่วยกันให้มากขึ้นด้วย

“ที่พูดไม่ใช่เพื่อให้แสนสิริดูดี แต่ผมทำคนเดียวไม่รอดหรอก แต่ถ้ารายใหญ่มาทำ 200-300 บริษัทช่วยกัน เราจะรอดไปได้ ช่วยกันพยุงกันไป ทำซ้ำกัน ช่วยซ้ำกัน ไม่เป็นไร คุณจะซื้อวัคซีนฉีดให้ซัพพลายเออร์ก็ทำไปเลย อยากซื้อของกับเอสเอ็มอีรายไหนก็ซื้อไป”

ในฐานะฟันเฟืองตัวเล็ก ๆ ตัวหนึ่ง แบกใครได้ก็แบกไปก่อน ผมแบกส่วนหนึ่ง คุณแบกส่วนหนึ่ง อย่าเอาเรื่องความถูกต้องมาพูดอย่างเดียวว่าเป็นเรื่องรัฐบาล ทำไมต้องไปจ่ายค่าวัคซีน

ทำไมต้องช่วยเอสเอ็มอี ไม่ใช่เรื่องที่จะมาพูดตอนนี้ เพราะสถานการณ์โควิดที่เรากำลังเผชิญ ไม่ใช่ภาวะปกติ แต่คือ “สงคราม”

ความช่วยเหลือในโครงการ “No One Left Behind” #แสนสิริไม่ทอดทิ้งใคร จึงหลากหลายมาก ทั้งช่วยซื้อผลผลิตทางเกษตรกร, ซื้อวัคซีนฉีดให้พนักงาน พันธมิตร คู่ค้า พนักงานในร้านอาหาร-วินมอเตอร์ไซค์ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง “สิริแคมปัส” และถึงขั้นลุกขึ้นมาปลูกหญ้า “เนเปียร์” บนที่ดิน 70 กว่าไร่ที่เชียงใหม่ เพื่อเป็นอาหาร “ช้าง” ก็ยังทำ

“ถามว่าช่วยช้างเกี่ยวอะไรกับธุรกิจอสังหาฯ ไม่เกี่ยวครับ อย่างที่บอก สิ่งที่เราทำไม่มีแผนชัดเจน คิดว่าช่วยอะไรได้ก็ช่วย ทำให้วันนี้เราใช้เงินเยอะมากในการช่วยอีโคซิสเต็มของเรา พาร์ตเนอร์ของเรา คู่ค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ช่วยได้ เอสเอ็มอีรายเล็กเราก็ช่วย เพราะอยากให้เดินไปด้วยกัน วันไหนฉีดวัคซีนครบทั้งประเทศแล้วจะได้กลับมาใหม่ด้วยกันได้”

นั่นเพราะธุรกิจของเราไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจโดยรวม ถ้าเศรษฐกิจโดยรวมไปไม่ได้ ธุรกิจก็ไปไม่ได้เหมือนกัน ไม่ว่าคุณจะแข็งแรงสักแค่ไหน ก็ไม่มีทางเติบโตได้

ตอกย้ำแนวคิด บริษัทใหญ่ช่วยบริษัทเล็ก คนตัวใหญ่ช่วยคนตัวเล็ก เพื่อให้รอดไปด้วยกัน