ย้อนตำนานกระบวนการฟอกรถหรู

ชั้น 5 ประชาชาติ

อมร พวงงาม

นี่ถ้าไม่มีคลิปอดีต ผกก.โรงพักเมืองนครสวรรค์ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล (โจ้)

ใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหารีดข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดจนขาดอากาศเสียชีวิต เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และถูกศาลออกหมายจับข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จนนำไปสู่การขยายผลถึงความร่ำรวยของนายตำรวจระดับยศพันตำรวจเอก

กระบวนการฟอกรถหรู จากดำเป็นขาว ที่เกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน คงไม่ถูกนำมาเปิดเผยอีกครั้ง หลังจากไม่มีใครพูดถึงมายาวนาน

วันก่อนมีโอกาสยกหูคุยกับเจ้าพ่อค้ารถเก่ารายใหญ่ในบ้านเรา เล่าให้ฟังถึงกระบวนการนี้ น่าสนใจทีเดียวครับวิธีการคือ ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ อาศัยช่องว่างกฎหมาย ฟอกรถผิดกฎหมายให้เป็นรถถูกต้อง

สร้างความร่ำรวยกันเป็นล่ำเป็นสัน

โดยกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า รถยนต์ที่นำเข้าจากต่างประเทศจะต้องผ่านพิธีการศุลกากร หรือต้องเสียภาษี ไม่ว่าจะเอามาใช้เองหรือเพื่อการค้า

ภาษีจะมีตั้งแต่ศุลกากร, สรรพสามิต, มหาดไทย และภาษีมูลค่าเพิ่ม หากผู้ใดลักลอบนำเข้ามาโดยไม่เสียภาษี มีความผิด โทษมีทั้งปรับและจำคุก

ส่วนรถยนต์หนีภาษีที่จับกุมได้ ทางกรมศุลกากรจะดำเนินการประมูลขายทอดตลาด และนำเงินที่ได้จากการประมูล หักค่าใช้จ่ายนำส่งเข้าคลังเป็นเงินแผ่นดินต่อไป

ซึ่งค่าใช้จ่าย หมายถึง สินบนนำจับ สินบนชี้เบาะแส และค่าดำเนินการจัดทำประมูล ส่วนรถที่ประมูลแล้ว ถือเป็นรถที่ถูกต้องสามารถนำไปจดทะเบียนใช้งานได้อย่างถูกกฎหมาย

ตรงนี้นี่เองแหละ ที่พวกหัวใสเอามาใช้เป็นช่องหาประโยชน์กันอย่างโจ่งครึ่ม

เริ่มจากลักลอบนำเข้าประเทศ หลัก ๆ มีไม่กี่รูปแบบ ประเทศที่ชื่นชอบ คือ กลุ่มประเทศที่ใช้รถพวงมาลัยขวาเช่น มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย ส่วนลาว, เขมร ไม่นิยมเพราะพวงมาลัยอยู่ด้านซ้าย

แบบแรกเรียกว่า “รถหนีไฟ” พวกนี้เจ้าของไม่มีปัญญาผ่อนต่อใกล้ถูกไฟแนนซ์ยึด กระบวนการจะเข้าไปทาบทามขอซื้อ รถยอดนิยม เช่น นิสสัน แฟร์เลดี้, นิสสัน GTR, โตโยต้า MR2, มาสด้า RX7 หรือ RX8, ปอร์เช่, เฟอร์รารี่, ลัมโบร์กินี ฯลฯ

แบบที่สอง “รถขโมย” เลือกเลยครับชอบรุ่นไหน แบบที่สาม “ซื้อ” มีให้เลือกทั้งรถเก่าและป้ายแดง ส่วนใหญ่จะเป็นรถคลาสสิก ซึ่งในมาเลเซียราคาถูกกว่าบ้านเราเป็นครึ่ง

หลังจากนั้นดำเนินการว่าจ้างขับรถเข้าประเทศไทย มีทั้งมาในรูปแบบท่องเที่ยวและหลบหนีเข้าประเทศ แล้วเอาไปจอดทิ้งไว้เฉย ๆ ตามปั๊มน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า อำเภอที่มีการจับกุมเยอะสุด คือ หาดใหญ่ ตรงนี้แหละ ที่จะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชุดจับกุม ก็จับได้เฉพาะรถเท่านั้น ซึ่งหลักฐานจากกรมศุลฯระบุว่า มีรายชื่อสารวัตรโจ้ดำเนินการจับกุมหลายคดี

รถหนีไฟยังสามารถเคลมประกันรถหายได้ด้วย

สเต็ปต่อไปกรมศุลฯดำเนินการขายทอดตลาดด้วยวิธีประมูล เงินที่ได้หักเป็นสินบนนำจับ 25% และผู้แจ้งเบาะแส 30% ลองคิดดูรถคันหนึ่งประมูลจบที่ 4-5 ล้านบาท

เหลือเงินเข้ารัฐไม่ถึงครึ่ง…อีกกว่าครึ่งไม่รู้ไปอยู่ในกระเป๋าใคร

นี่ยังไม่รวมถึงเทคนิคถอดของสำคัญของรถออก เช่น สมองกล, เบาะนั่ง, แดชบอร์ดบางชิ้น ซึ่งทำให้รถเสียมูลค่า แล้วประมูลซะเองในราคาต่ำๆ ได้มาแล้วก็เอาของที่ถอดใส่กลับที่เดิม แล้วใช้บริการพรรคพวกซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำเข้ารถหรูช่วยปล่อยต่อในตลาดอีกที

เรียกว่า “ได้ซับได้ซ้อน” กันเลยทีเดียว

ส่วนบรรดารถหรูทั้งหลายก่อนนำมาประมูลสีออกดำ ๆ เทา ๆ หลังประมูลเสร็จกลายเป็นสีขาวขึ้นมาทันที เอาไปขับโฉบเฉี่ยวใช้งานกันได้สบาย

ข้อมูลกรมศุลฯระบุว่า ตั้งแต่ปี 2554-2560 ผกก.โจ้เป็นเจ้าของสำนวนคดีนำจับรถหรูและรถทั่วไปรวม 368 คัน ขายทอดตลาดไปแล้ว 363 คัน ได้เม็ดเงินกว่า 1,000 ล้านบาท

นอกจากเม็ดเงินจำนวนมหาศาลจากเบาะแสชี้เป้าและสินบนการจับกุมแล้ว กระบวนการนี้ยังมีอีกหลากหลายวิธี ซึ่งแต่ละอย่างสร้างรายได้ให้กับตัวเองและเครือข่ายมหาศาล เช่น นำรถหรูเข้าประเทศอย่างถูกต้อง แต่สำแดงราคาซื้อต่ำมาก ๆ เพื่อเลี่ยงเสียภาษีให้ถูกลง ซึ่งยังมีรถค้างอยู่กับ “ดีเอสไอ” อีกหลายคดี ทั้งปอร์เช่, เบนท์ลีย์, ลัมโบร์กินี ฯลฯ

หรือกรณีรถจดประกอบ กว่าที่เจ้าหน้าที่จะตาสว่างเลิกอนุญาตให้นำเข้า เครือข่ายกระบวนการฟอกรถหรูซิกแซ็กหาเงินหาทองเข้ากระเป๋ากันจนอิ่มแปล้

“เงิน” ทุจริตนี่ มันช่างหอมหวนดีจริง

แต่เชื่อเถอะครับ “บาปกรรม” มีจริง ยิ่งช่วงหลังติดจรวดซะด้วย ! !