ฟื้นฟูปอดรอดโควิด

คอลัมน์ สามัญสำนึก
สมถวิล ลีลาสุวัฒน์

2 ปีมานี้มีคนรู้จักเป็นหมอเป็นพยาบาลมากขึ้น พูดให้กว้างหน่อยคือ มีมิตรสหายเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ใช่เพื่อนสมัยเรียน ไม่ใช่เพื่อนแถวบ้าน

แต่เป็น “เพื่อนระหว่างทาง” ที่เราโคจรมาพบกัน

ต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่คอยประสาน แลกเปลี่ยน และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย หรือผู้ที่คาดว่าอาจจะเป็นกลุ่มเสี่ยงได้รับเชื้อโควิด-19

ฉะนั้น การ์ดของตัวเราจึงต้องยกสูงกว่าปกติ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ตัวเราเองและคนรอบข้าง

ปัจจุบันสถานการณ์โดยรวมในประเทศไทยถือว่า “ดีขึ้น” แต่ไม่ใช่ดีแบบปกติ แม้ผู้หายป่วยจะมีจำนวนที่กลับบ้านมากขึ้น โดยเริ่มมีจำนวนมากกว่าผู้ติดเชื้อต่อวัน

ส่วนการบริหารจัดการเตียงในวันนี้ พบว่าปริมาณเตียงในพื้นที่เขตกรุงเทพฯก็เริ่มเพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยแล้ว

เนื่องจากการทำ home isolation (HI) และ community isolation (CI) เป็นไปอย่างมีระบบ ส่งผลให้การบริหารจัดสรรเตียงดูราบรื่น

จากข้อมูลการรอคอยเตียงในระบบ call center พบว่าจำนวน “ผู้รอเตียงสีแดง” มีจำนวนลดลง และมีผู้ป่วยที่ต้องรอเตียงเกิน 24 ชม.ก็ลดลงเรื่อย ๆ

ทำให้ คุณหมอสมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ รู้สึกหายใจเต็มปอดได้บ้างในช่วงนี้ คือเริ่ม ๆ จะสบายใจ แต่ก็ไม่หมดความกังวลใจ ตราบใดที่เจ้าโควิดยังคงป้วนเปี้ยนไม่เลิกรา

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยังมีผู้ติดเชื้อสะสมต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก และผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว บางส่วนก็เป็นผู้ป่วยที่มีการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดทำได้ช้า เพราะอายุเยอะ ไม่ก็มีโรคในตัวที่มีสิทธิ์ติดโควิดได้ง่าย โอกาสเสียชีวิตก็สูง ทั้งช่วงรักษาก็แสนทรมาน

อะไรที่เกี่ยวกับ “ระบบทางเดินหายใจ” ถือว่าเซนซิทีฟมาก อาจเปรียบเหมือนอินฟราสตรักเจอร์พวกถนนหนทาง ถ้าน้ำไหล ไฟสว่าง หนทางดี เราก็สามารถเดินทางได้สะดวก ทำธุรกิจได้ราบรื่น ประหยัดต้นทุนได้ทุกด้าน

ดังนั้น การออกกำลัง “ฟื้นฟูสมรรถภาพปอด” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องสื่อกับผู้ป่วยให้เข้าใจ และพร้อมช่วยเหลือทุกวินาที

หากการหายใจดี มีประสิทธิภาพ โควิดไม่มีสิทธิ์แหยม

ทั้งยังช่วยขับเสมหะ ป้องกันภาวะปอดแฟบ ซึ่งเป็นตัวช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นการทำงานของปอดได้ดีและเร็ว

เชื้อโควิดมีความชื่นชอบระบบการหายใจของมนุษย์เป็นพิเศษ มันมีคุณสมบัติการทะลุทะลวงลงไปถึงแขนงหลอดลมฝอยและถุงลมปอดได้ง่ายมาก

ทำให้ผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมดเกิดปอดอักเสบ มากน้อยแล้วแต่ภูมิคุ้มกันและความแข็งแรงของแต่ละคน

ผู้ป่วยราว 50% เกิดปอดอักเสบที่ต้องรีบรักษาในโรงพยาบาล และมี 5% ที่ปอดอักเสบรุนแรงจนถึงขั้นวิกฤต และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจคิดเป็นจำนวน 2% ซึ่งนำไปสู่อัตราการเสียชีวิตที่ 1%

เชื้อโควิดนอกจากจะทำให้ปอดอักเสบเหมือนเชื้อโรคอื่นแล้ว มันยังมีลักษณะพิเศษที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายคนเราให้ทำงานอย่างหนักและรุนแรง เพื่อต่อต้านการเพิ่มจำนวนของไวรัส

ทำให้ผู้ป่วยโควิดรู้สึกเหนื่อยง่าย เดิน 2-3 ก้าวก็หอบแล้ว ลำพังแค่จะหายใจก็เหนื่อยแล้ว น่าเห็นใจมาก

การรักษานอกจากกิน “ยาต้านไวรัส” ช่วงแรกแล้ว คุณหมออาจให้ยารักษาสมดุลภูมิต้านทานด้วย รายที่รุนแรงและเข้าระยะสุดท้ายจะได้ยาต้านอักเสบ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูปอด ระหว่างการรักษาทั้ง 3 ระยะนี้

สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยต้องได้รับออกซิเจนให้มากพอ เพราะออกซิเจนในเลือดจะไปช่วยหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ให้ทำงานได้ปกติ

บุหรี่ สิ่งแปลกปลอม อากาศที่มีมลพิษ หรือฝุ่นพีเอ็ม ต้องเลี่ยงให้ไกล เพราะเชื้อโรคผ่านเข้าหลอดลม ถุงลมปอด และจ้องทะลุทะลวงเข้าถึงเนื้อเยื่อชั้นลึก โอกาสรอดจะไม่มี


ว่าแล้วเรามาปลูกต้นไม้ เพิ่มออกซิเจนในอากาศ เลิกบุหรี่ และทำอากาศให้สะอาดกันเถอะ