โลกแห่งการแข่งขัน

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

กลางสัปดาห์ก่อน “ประชาชาติธุรกิจ” มีงานสัมมนาใหญ่อีกงานหนึ่งคือ Thailand 2018

เป็นงานแนว outlook มองข้ามไปในปีหน้า ซึ่งเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับภาคธุรกิจ ที่ต้องมองให้ขาด มองให้ทะลุว่าต้องรุก หรือต้องรับ หรือจะใช้วิธีประคับประคองกันไป

ส่วนท่านที่พลาดโอกาส เนื้อหาการสัมมนาวันนั้นได้ถูกนำเสนอผ่านทุกช่องทางสื่อของ “ประชาชาติธุรกิจ” ไปแล้ว

ในงานเรายังมีหนังสือประจำปี “100 บริษัทอาเซียน” ที่จัดทำขึ้นติดต่อเป็นปีที่ 3 รวบรวมผลดำเนินงาน 100 บริษัทในอาเซียนที่มีรายได้ในปี 2559 สูงที่สุด พบว่า 100 บริษัทที่มีรายได้สูงสุดในอาเซียน มีมูลค่ารวมประมาณ 26.85 ล้านล้านบาท แม้ว่าจะลดลง 0.6% จากปี 2558 แต่กลับพบว่ายังสามารถทำกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นได้ถึง 18%

ขณะเดียวกันใน “100 บริษัทอาเซียน” มีบทสัมภาษณ์ ชี้ให้เห็นถึงทิศทางการปรับตัวของบรรดาธุรกิจยักษ์ใหญ่ในบ้านเรา

แทบทุกคนมีแนวทางที่ตรงกันว่าการ transform เปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อรับกับธุรกิจในโลกยุคใหม่เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

“สุกิจ อุดมศิริกุล” จากเมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ซึ่งสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการทำหนังสือเล่มนี้กับ “ประชาชาติธุรกิจ” มาโดยตลอด และได้ขึ้นเวทีในวันนั้นด้วย มีข้อสังเกตที่น่าสนใจในหลาย ๆ จุด

อาทิ กระแสอาเซียนทรานส์ฟอร์มที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กำลังกระจายไปทั่วทุกประเทศในภูมิภาค ทุกคนพยายามถีบตัวให้สูงกว่าเดิม

…ทั้งไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ได้ก้าวไปอยู่ในอุตสาหกรรมสาธารณูปโภค และกำลังจะไปสู่อุตสาหกรรมขั้นสูง ส่วนเวียดนามจะมีทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมไฮเทค เทคโนโลยี

แต่ถ้าวัดกันตัวต่อตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง ต้องยอมรับว่า มาเลเซีย และสิงคโปร์ เวลานี้ไปไกลกว่าไทย

“ขีดความสามารถในการแข่งขันในเรื่องดิจิทัล อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ อันดับ 2 มาเลเซีย อันดับ 3 ไทย อันดับ 4 ฟิลิปปินส์ อันดับ 5 อินโดนีเซีย ทำให้ไทยยังมีการบ้านที่ต้องทำต่อ”

แม้การส่งออกของไทยจะเริ่มฟื้นตัว แต่ยังเป็น “สินค้าที่ไม่ไฮเทค” มากนัก ทำให้โอกาสดึงเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศยังสู้ประเทศอื่นไม่ได้

เมื่อมองภาพของอาเซียนในปีหน้า “สุกิจ” บอกว่า ต้องยกให้การลงทุนภาคเอกชนเป็น “พระเอก” โดยจะมีกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่อย่าง “จีน” ที่ยังคงมาแรง ดังนั้นจะเห็นการลงทุนขยายตัวทั้งอาเซียน

เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่เริ่มเห็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากเงินที่ล้นระบบ และดอกเบี้ยในญี่ปุ่นที่ยังต่ำ

ถามว่าทำไมผมถึงสนใจ และพุ่งประเด็นไปที่การ transform ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมากกว่าประเด็นอื่น ๆ

คำตอบก็คือ ธุรกิจยักษ์ ๆ ทั้งของไทย และยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่ลงหลักปักฐานในไทยมานาน กำลังมองภาพตลาดการค้าที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางกว่าเดิม มีกำลังซื้อจากกลุ่มผู้บริโภคที่มากกว่าเดิม

เวลาพูดถึงไทย จะไม่โฟกัสที่ไทยประเทศเดียว แต่จะบวกรวม ๆ ไปถึงประเทศในกลุ่ม CLMV กัมพูชา-ลาว-เมียนมา-เวียดนาม ไปพร้อม ๆ กัน

เช่นเดียวกับตัวเลขการค้าขายระหว่างประเทศ ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา การค้าขายระหว่างไทยกับ CLMV และเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย พุ่งขึ้นสูงมาก

อีกประการหนึ่งคือ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI ยังเป็นเป้าหมายสำคัญของประเทศไทย แน่นอนว่าการเกิดขึ้นของ “อีอีซี” ที่ภาครัฐกำลังเร่งผลักดันอย่างเต็มที่มีขึ้นเพื่อสิ่งนี้

ที่สำคัญ… ทุกประเทศต่างเร่งสปีด ทุกคนล้วนกำลังแข่งกับตัวเอง

ไม่มีใครหยุดตัวเองอยู่กับที่