หารายได้จากไหน…เรื่องใหญ่กว่า

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

อำนาจ ประชาชาติ

ไม่ได้น่าแปลกใจที่รัฐบาลตัดสินใจขยับเพดานก่อหนี้สาธารณะเป็นไม่เกิน 70% ของ GDP ขยายจากเดิมตีกรอบไว้แค่ 60%

เพราะระดับหนี้สาธารณะในปัจจุบันปริ่มเพดาน 60% แล้ว ถ้าไม่ปรับ ก็น่าจะทะลุเพดานในปีงบประมาณ 2565 นี้

ก็อย่างที่คุณ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง บอก การขยับเพดานรอบนี้ จะทำให้สามารถก่อหนี้ได้อีกราว 1.2 ล้านล้านบาท เป็นการ “เปิดรูม” ไว้ ส่วนจะกู้เพิ่มเติมอีกแค่ไหน จะพิจารณาตามความจำเป็น

ภาษาทางการคลัง เรียกว่า เพิ่ม fiscal space (พื้นที่ทางการคลัง)

ขณะที่ คุณเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ออกมาบอกว่า การปรับเพิ่มเพดานหนี้ ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจะกู้เงินเพื่อให้ถึงเพดาน

แต่การใช้จ่ายภาครัฐควรเน้นโครงการที่มีประสิทธิผลสูงและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และต้องเร่งลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP กลับมาที่ 60% ให้ได้ในระยะต่อไป

รองผู้ว่าการแบงก์ชาติย้ำด้วยว่า ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การใช้จ่ายภาครัฐต้องเน้นโครงการที่มีประสิทธิผลสูง เช่น คนละครึ่ง เป็นต้น และมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ รวมถึงมาตรการที่พยุงการจ้างงาน ขณะที่การเยียวยาต้องทำให้ตรงจุดเท่าที่จำเป็น

ฟากบรรดาภาคเอกชนต่างก็ขานรับ เพราะดูทรงแล้ว เศรษฐกิจไทยเราจะฟื้นช้ากว่าอีกหลาย ๆ ประเทศในโลก ดังนั้น คงต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนทางการคลังมาช่วยกระตุ้นอีกมาก

ถ้าเศรษฐกิจฟื้นได้ดีขึ้น พื้นที่ทางการคลังก็จะเพิ่มขึ้นตามมาอีก เพราะภาคธุรกิจจะมีรายได้ รัฐบาลก็จะเก็บภาษีได้ดีขึ้นนั่นเอง

ดังนั้น ท่ามกลางวิกฤต เมื่อจำเป็นต้องกู้ ก็ต้องกู้ แต่กู้มาแล้วต้องใช้อย่างเหมาะสม ไม่ใช่เอาไปจัดซื้ออะไรที่ไม่จำเป็น อย่างพวกอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ

เบาได้…ต้องเบา หรืออะไรที่ไม่ได้จำเป็นในโลกยุคนี้แล้ว เลิกไปได้เลยก็ยิ่งดี

เห็นด้วยกับ คุณสมหมาย ภาษี อดีต รมว.คลัง ที่บอกว่า การปรับเพดานหนี้ไม่ใช่ปัญหา ต้องทำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นก็คือ

หลังจากนี้ รัฐบาลจะมีแนวทางหารายได้เพิ่มอย่างไร นี่ต่างหากคือ ประเด็นสำคัญ

ฟังคุณ “อาคม” บอกว่า รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มรายได้ใหม่ที่เกิดจากการดึงดูดการลงทุนใน EEC รวมถึงรายได้ที่ได้จากการส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาเพิ่มกำลังการผลิต ทำให้ GDP เพิ่ม และจะกลับมาเป็นเม็ดเงินภาษีเข้ารัฐต่อไป

ยังค่อยเห็นภาพเป็นรูปธรรมนัก ว่ารัฐบาลจะเก็บรายได้เพิ่มจากสิ่งเหล่านี้เป็นกอบเป็นกำได้อย่างไร

ดังนั้นคงต้องติดตามว่า หลังจากนี้กระทรวงการคลังจะขยับเรื่องนี้อย่างไรต่อไป แต่การจะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็น 10% อย่างที่คุณ “สมหมาย” เสนอ คิดว่าคงยากกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา

เพราะถ้าจะปรับ VAT ก็คงต้องทำในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ร้อนแรง เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการซ้ำเติมประชาชน

ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลไม่มีแนวทางหารายได้เพิ่มอย่างชัดเจน เชื่อว่าระดับหนี้สาธารณะก็คงพุ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ส่วนโอกาสจะลดลงคงยาก เพราะทุก ๆ ปี รัฐบาลก็คงต้องตั้งงบประมาณแบบ “ขาดดุล” ซึ่งต้องกู้เงินชดเชยอยู่ร่ำไป

เหมือนที่ทำมาทุกรัฐบาลนั่นเอง