เตรียมรับมือล่วงหน้าราคาน้ำมันขาขึ้น

น้ำมัน
บทบรรณาธิการ

ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี กระทบต้นทุนการผลิต การขนส่ง การเดินทางของภาคธุรกิจ ประชาชนในวงกว้าง

ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่าลงทำให้ต้นทุนนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซพุ่งขึ้นในอัตราเร่ง การอ่อนค่าของเงินบาทแม้ส่งผลดีต่อธุรกิจส่งออก แต่ธุรกิจและอุตสาหกรรมหลายสาขาได้รับผลกระทบตามมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญปัญหาทั้งภายใน ภายนอก เพราะแม้โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย

แต่ความเสี่ยงยังรุมเร้ารอบด้าน สถานการณ์เศรษฐกิจยังเปราะบาง จำเป็นต้องใช้เวลากระตุ้นเยียวยาอีกระยะกว่าจะกลับมาฟื้น เมื่อเจอแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ขยับขึ้นเร็วและแรง จึงน่าห่วงว่าจะฉุดภาคเศรษฐกิจที่มีปัญหาดิ่งลงซ้ำ

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้บรรเทาภาระประชาชน 3 แนวทาง

1.ปรับลดเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนน้ำมันดีเซล บี 7 จาก 1 บ./ลิตร เหลือ 0.01 บ./ลิตร ตั้งแต่ 5 ต.ค. 2564 2.ปรับลดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล บี 7

และดีเซลหมุนเร็ว (B10) เป็น B6 ตั้งแต่ 11-31 ต.ค. 3.ลดค่าการตลาดดีเซลธรรมดาจาก 1.80 บ./ลิตร เหลือ 1.40 บ./ลิตร เริ่มตั้งแต่ 11-31 ต.ค. 2564

มาตรการดังกล่าวแม้ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลดเหลือไม่เกิน 30 บ./ลิตร แต่ทั้ง 3 มาตรการเน้นแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า ส่วนระยะยาวหากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังพุ่งขึ้น การนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่ง

ณ วันที่ 26 ก.ย. 2564 อยู่ที่ 11,441 ล้านบาท มาช่วยเหลือชดเชยทั้งก๊าซ LPG ทั้งดีเซลอาจยาก เนื่องจากเงินกองทุนจะยิ่งลดน้อยลงจนติดลบ

ขณะเดียวกันพิจารณาโครงสร้างราคาน้ำมัน พบว่าต้นเหตุที่ทำให้น้ำมันแพงเป็นเพราะถูกบวกค่าใช้จ่ายสารพัด

โดยเฉพาะรายได้ที่ถูกจัดเก็บเข้ารัฐ อาทิ ภาษีสรรพสามิต ภาษีมหาดไทย เงินเรียกเก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯ กองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าการตลาด ฯลฯ

แค่ภาษีสรรพสามิตรายการเดียวก็จัดเก็บสูงถึงลิตรละกว่า 5 บาท หรือปีละกว่า 2 แสนล้านบาทแล้ว อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะลดภาษีสรรพสามิตให้ราคาน้ำมันถูกลงคงยาก เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้รัฐกระเป๋าแฟบ การจัดเก็บรายได้หลักไม่เข้าเป้า

ทุกภาคส่วนจึงต้องยอมรับความจริงที่เจอแจ็กพอตน้ำมันแพงซ้ำเติมพิษโควิด ขณะที่รัฐต้องวางแผนตั้งรับล่วงหน้า บริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ ควบคู่กับรณรงค์ประหยัดพลังงาน แม้อาจสวนทางกับการเปิดเมือง ปลุกเศรษฐกิจก็ต้องทำ