นายกฯอำมาตย์ใหม่

คอลัมน์ สามัญสำนึก
อิศรินทร์ หนูเมือง

ยังมีเวลาอีกนานยิ่งกว่านาน กว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะปรากฏตัว

ไม่ใช่แค่ปัจจัยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ได้กำหนดวาระของนายกรัฐมนตรีไว้ในมาตรา 158 วรรคสี่ ระบุว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปี มิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”

ไม่ใช่แค่เพียงการเปิดตัวหัวหน้าพรรค ทั้งพรรคเก่า พรรคใหม่ ที่กำลังก่อตั้ง เพิ่งจดทะเบียน แล้วจะเห็นเส้นทางไปสู่นายกรัฐมนตรี

ไม่ใช่แค่ปัจจัย 3 ช่องทาง ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนปัจจุบัน ที่ยังเป็นที่ถกเถียงว่า วาระ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ จะจบสิ้นเมื่อใด

ใช่วันที่ 23 สิงหาคม 2565 เพราะนับจาก 24 สิงหาคม 2557 ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯครั้งแรก หลังการรัฐประหาร

หรือวันที่ 5 เมษายน 2568 นับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560

หรือจะทอดยาวไปถึง 8 มิถุนายน 2570 นับจากวันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ 9 มิถุนายน 2562 เป็นนายกฯครั้งสอง หลังการเลือกตั้ง

ในสมัยปัจจุบัน สมมติฐานในการมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ อาจไม่ใช่เกิดขึ้นหลังการกดดันทางการเมือง จนนำไปสู่การยุบสภา แล้วเลือกตั้งกันใหม่

หากว่ามีปัจจัยนอกกระดานการเมืองเข้ามากำกับ และนับเป็นเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่คนที่อ่านทางยาก พูดคำไหน มักเป็นไปอย่างนั้น

แม้เรื่องที่เคยปิดลับ-ไม่เปิดเผย แต่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี คนเดียว ที่สามารถนำมาเปิดเผยได้

แผนล้มนายกรัฐมนตรี ในสภาผู้แทนราษฎร ที่ถูกเดินเกมลับ ยังถูก พล.อ.ประยุทธ์เปิดโปง ด้วยการอ้างรัฐธรรมนูญ และมีประกาศพระบรมราชโองการ ให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ในช่วงเวลาสายฟ้าแลบ

พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียว ที่ประกาศในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ท่ามกลางหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลว่า แม้พรรคร่วมรัฐบาลจะลาออกก็ยังอยู่ได้

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศล่าสุดโดยนัยว่า ขอเป็นนายกรัฐมนตรีอีก 5 ปี “เพราะทุกอย่างต้องใช้เวลา และต้องแก้ไขทั้งหมด”

เมื่อสถานภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่มีทีท่าว่าจะร่วงจากตำแหน่ง หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ บรรดาพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้าน-รัฐบาล และพรรคการเมืองใหม่ จึงต้องโหมเปิดหัว-หาแสง เพื่อหาเสียง ล่วงหน้า

หลายพรรคจัดจ้างทีมประชาสัมพันธ์ใหม่-หาฝ่ายโฆษณา เตรียมแคมเปญ อย่างเป็นระบบ

บางพรรคคืบหน้าการเจรจาหาแคนดิเดต ในบัญชีนายกรัฐมนตรีใหม่

บางพรรคเก่าแก่ แต่ยังชุลมุนชิงการนำ อย่างไร้อนาคต

มีพรรคเดียวที่ประกาศเด็ดขาดไม่เคยเปลี่ยนแปลง นอนมา คือ ภูมิใจไทย ที่ใส่ชื่อเดียวตลอดกาล คือ อนุทิน ชาญวีรกูล

บางพรรคยังงำประกาย เปิดหัวลวง-ชิมลาง ซ่อนหัวตัวจริงไว้เปิดตัวอย่างเซ็กซี่ในช่วงโค้งสุดท้าย ตามตำรารบ ไม่เกิน 100 วัน ชิงนายกรัฐมนตรี ที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว

ที่เหนือกว่าการเปิดหัว ชิงแสง เปิดตัวว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ยังมีปัจจัยชี้ขาดอีกอย่างน้อย 2 เรื่อง

หนึ่ง คือ เงินเพื่อการเลือกตั้ง ที่อยู่นอกเหนือค่าใช้จ่ายตามรัฐธรรมนูญกำหนด

สอง คือ คน-ที่ได้รับการสนับสนุนทุกมิติ ทั้งมวลชน-ฐานเสียง จัดตั้งจากฟ้าสู่ดิน

หากไม่มีปัจจัยเรื่องคะแนนนิยม ที่เป็นปัจจัยหลัก ที่ตัดสินแพ้-ชนะ

พรรคพลังประชารัฐ ภายใต้ความพยายามกุมสภาพ โดยเครือข่าย 3 ป. ท่อของทุน และนักการเมืองมืออาชีพ พร้อมสรรพทั้งเงินทอง และตัวช่วยที่มองไม่เห็น น่าจะอยู่ในลู่ที่ลุ้นแต้มชนะ

แต่หากเลือกตั้งแบบใหม่ บัตรสองใบ และพรรคทักษิณ เปิดหัวว่าที่นายกรัฐมนตรี ที่เป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่วัยกลางคน เข้าใจการเมือง มีฐานเสียงคนรุ่นใหม่ ครบเครื่องเรื่องทุนและบารมี และบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ที่โดดเด่น เส้นทางสู่ทำเนียบก็ไม่ไกลเกินฝัน

แต่ก็นั่นแหละ สมัยนี้ ไม่ใช่ว่านายกฯจะยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ก็ทำได้

หากเครือข่ายอำมาตย์ใหม่ ทุนใจถึง ที่เป็นแก้วสารพัดนึก เตรียมผู้มีบารมีไว้ เปิดหัวขึ้นมา บรรดาหัวพรรคการเมืองในสนามก็จบเห่

หัว-ที่ว่า ณ วันนี้ ยังบ่มบารมี นับถอยหลัง ออกมาโลดแล่นในสนามการเมือง
โปรดเฝ้ารอคอย การประกาศ ด้วยใจระทึก