
คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย อมร พวงงาม
วันก่อนไปนั่งฟังเสวนาในหัวข้อ ทรานส์ฟอร์เมชั่น-เกมแห่งอนาคต ในงานสัมมนาแห่งปี ไทยแลนด์ 2018 จุดเปลี่ยนและความท้าทาย ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” มีวิทยากรเก่ง ๆ หลายท่านครับ
แต่หนึ่งในวิทยากรซึ่งเป็นสุภาพสตรี และกำลังเป็นที่จับตามองในอุตสาหกรรมยานยนต์ ต้องคนนี้เลยครับ “ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ” บรรยายได้น่าฟังมาก เรียกว่าเก็บความรู้มาเต็มหัว กลับบ้านไม่กล้าสระผมเลยทีเดียว กลัวจะหลุดกระเด็นออกหมด
บอสใหญ่ จากค่ายไทยซัมมิท โอโต พาร์ท อินดัสตรี ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ของประเทศไทย ชี้ถึงเกมในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่กำลังจะเปลี่ยนและแนวทางการตั้งรับ โดยมั่นใจว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ที่พัฒนากันมาตั้งแต่เครื่องจักรไอน้ำ เครื่องยนต์สันดาปภายใน ทั้งดีเซล เบนซิน จนมาถึง ไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด, ฟิวเซลล์ ฯลฯ
อย่างไรเสียหนีไม่พ้น รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี Electric Vehicles เพราะฉะนั้นถ้าจะตั้งรับกับเกมนี้จำเป็นต้องมองอุตสาหกรรมให้ “ขาด”
คำถามที่ถูกถามบ่อยมากคือ บ้านเรา รถยนต์ไฟฟ้าจะมาจริงหรือ
ตอบลำบาก แต่อยากให้ดูการตั้งเป้าของค่ายรถยนต์วอลโว่ ตั้งเป้า 1 ล้านคัน ในปี 2563, เรโนลต์-นิสสัน จำนวน 1.5 ล้านคัน ในปี 2563, เทสล่า 1 ล้านคัน ในปี 2563, ฮอนด้า 1 ล้านคัน ในปี 2573, โฟล์คสวาเก้น 3 ล้านคันในปี 2568 และแบรนด์จีนทุกแบรนด์รวมกัน 4.52 ล้านคัน ในปี 2563
เห็นเป้าหมายการลงทุนมหาศาลแบบนี้ น่าจะได้คำตอบที่ชัดเจน
ดังนั้นถ้ารถไฟฟ้ามาจริง อะไรจะเกิดขึ้น
อย่างแรก มาตรฐานไฟฟ้า ทุกหน่วยงานคงต้องไปปรับให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
การใช้ไฟฟ้าที่โหลดมาก ๆ จะไปอยู่ช่วง 2 ทุ่ม ถึง 6 โมงเช้า
เพราะรถทุกคนต้องชาร์จแบตเตอรี่ แบตเตอรี่จะกลายเป็นหัวใจของรถยนต์
ซึ่งตอนนี้หลายค่ายพยายามพัฒนาร่วมกันและหาทางทำให้ ต้นทุนของแบตเตอรี่ต่ำลง
เพราะถ้าราคาแบตเตอรี่ถูกลง รถยนต์ไฟฟ้าคงจับต้องได้ง่ายขึ้น
ซัพพลายของอุตสาหกรรมรถยนต์จะเปลี่ยนโดยมีวัตถุดิบใหม่เกิดขึ้น
หลังจากที่รถยนต์หันหลังให้ “น้ำมัน” ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์สันดาปภายใน วัตถุดิบที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่ จะกลายมาเป็น “ผู้กุมชะตาโลก” แทนกลุ่มโอเปก หรือกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันในปัจจุบัน
แบตเตอรี่ใช้แร่หลัก 2 อย่างในการผลิต คือ ลิเทียม และโคบอลต์
ซึ่งพบมากใน 3 ประเทศ คือ โบลิเวีย, ชิลี และอาร์เจนติน่า
พื้นที่ตรงนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “Lithium Triangle” หรือสามเหลี่ยมลิเทียม ที่ครองส่วนแบ่งลิเทียมกว่า 54% ทั่วโลก
ทุกคนอาจได้เห็นธุรกิจใหม่ “ลีสซิ่งแบตเตอรี่” และอนาคตอาจได้เห็นการเปลี่ยนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ง่ายเหมือนกับการเปลี่ยนถ่านไฟฉาย
ระบบซัพพลายเชนต้องปรับตัวกันอย่างรวดเร็ว
ชิ้นส่วนที่ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าจะน้อยลง ตั้งแต่เครื่องยนต์ หม้อน้ำ ท่อไอเสีย คาร์บูเรเตอร์ หัวฉีด ฯลฯ
ผู้ผลิตชิ้นส่วนต้องหาอย่างอื่นชดเชย เช่น สายไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ มอเตอร์ไฟฟ้า
ส่วนใครที่ผลิตบอดี้รถจำเป็นต้องหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาเสริม เช่น ไลต์เวตเทคโนโลยี เพื่อให้ “เบา” ซึ่งมีผลต่อการเดินทางได้ไกลมากขึ้นต่อการชาร์จแบตเตอรี่หนึ่งครั้ง
หัวใจที่ทำให้รถขับเคลื่อนได้จะเป็นซอฟต์แวร์แอปพลิเคชั่น
เร็ว ๆ นี้คงได้เห็นค่ายรถยนต์จับมือกับบริษัทซอฟต์แวร์
สุดท้ายรถยนต์จะถูกพัฒนาไปจนถึงรถยนต์ไร้คนขับหรือคาร์แชริ่ง ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของรถยนต์กันอีกต่อไป
จำนวนรุ่นของรถยนต์จะน้อยลง รวมทั้งออปชั่นที่มีมาให้ในรถ ลูกค้าจะเข้าโชว์รูมน้อยลง
ดีลเลอร์ขายรถคงลดบทบาทไปในที่สุด การซ่อมบำรุงรักษาจะน้อยตามไปด้วย เพราะมีซอฟต์แวร์ควบคุมอุบัติเหตุ ช่างจะหายไป เปลี่ยนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์มากกว่า
ทุกอย่างไม่นานเกินรอครับ