“นโยบายพลังงานยุคโควิด” ภารกิจท้าทาย

แท่นสูบน้ำมันดิบ

น้ำมันขาขึ้นยังเป็นประเด็นร้อน จากความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นหลังโควิด-19 คลี่คลาย ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและดีเซลในประเทศปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง กระทบภาคการผลิต การขนส่ง โดยเฉพาะดีเซลกำลังเป็นโจทย์ใหญ่ท้าทายรัฐบาล

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย นำผู้ประกอบการรถบรรทุกเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ตรึงราคาดีเซลที่ 25 บาท/ลิตร อย่างน้อย 1 ปี ลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 1 ปี ให้ปรับสูตรน้ำมันไบโอดีเซลเนื่องจากราคาปาล์มสูงขึ้น ฯลฯ

แม้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน รับปากจะนำข้อเรียกร้องดังกล่าวเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม พิจารณา แต่ชี้ว่าการลดราคาดีเซลเหลือ 25 บาท/ลิตร ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะรัฐต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นมาก

ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อ 20 ต.ค. มีมติตรึงราคาน้ำมันกลุ่มดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ซึ่งสถานะกองทุน ณ วันที่ 17 ต.ค. 2564 อยู่ที่ 27,533 ล้านบาท อุดหนุน และหากน้ำมันในตลาดโลกยังพุ่งสูง เงินกองทุนไม่เพียงพอ จะประสานกระทรวงการคลังพิจารณาปรับลดภาษีสรรพสามิต

เท่ากับข้อเรียกร้องของสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ได้รับการสนองตอบบางข้อ แต่ประเด็นหลัก อาทิ การตรึงราคาดีเซลที่ 25 บาท/ลิตร ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันกลุ่มดีเซลลงเหลือ 0% สถานการณ์ขณะนี้รัฐบาลอาจตัดสินใจลำบาก

เพราะนอกจากต้องใช้เงินอุดหนุนจำนวนมาก และกระทบรายได้รัฐแล้ว เสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากฝ่ายที่คัดค้าน-เห็นด้วยยังกระหึ่ม

โดยเฉพาะการลดภาษีสรรพสามิต 1 ใน 3 รายได้หลักที่จัดเก็บภาษีเข้ารัฐ ช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา เศรษฐกิจสะดุดขับเคลื่อนได้ไม่เต็มที่

การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร ต่ำกว่าเป้ามาก 9 เดือนแรกงบประมาณ 2564 (ต.ค. 63-มิ.ย. 64) มีรายได้สุทธิ 1.73 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ ถึง 1.95 แสนล้านบาท หรือต่ำกว่า 10.1%

ขณะที่หนี้สาธารณะพุ่งขึ้น จากที่ต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้รัฐต้องขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มจากเดิมไม่เกิน 60% ของจีดีพี เป็นไม่เกิน70% ของจีดีพี เพื่อรองรับความเสี่ยงเศรษฐกิจ กับโควิดที่อาจย้อนระบาดใหม่

ผลกระทบจากราคาน้ำมันโลกพุ่งขึ้นเป็นเรื่องน่าเห็นใจ แต่การดำเนินนโยบายพลังงานรัฐ การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ภาคธุรกิจแต่ละกลุ่มจึงต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ดูถึงผลดีผลเสีย ประโยชน์ประเทศชาติในระยะยาวไม่ใช่แค่เฉพาะหน้า ที่สำคัญต้องไม่สร้างภาระให้คนส่วนใหญ่ต้องแบกรับ