เศรษฐกิจไทยจะไปต่ออย่างไร เมื่อเราต้องอยู่กับ COVID อีกนาน ?

ฉีดวัคซีน
คอลัมน์ช่วยกันคิด

พิมฉัตร เอกฉันท์
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

 

ในช่วงที่ผ่านมาการเร่งระดมฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรถือเป็นพันธกิจที่ทุกประเทศให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การพิจารณาแผนเดินหน้าเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ (reopen country) ภายใต้บริบทของความปกติใหม่ (new normal) ให้ได้โดยเร็วที่สุด

แต่การอุบัติขึ้นของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์อย่าง “สายพันธุ์เดลต้า” กลับตอกย้ำถึงความกังวลที่การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสจะนำไปสู่การแพร่ระบาดระลอกใหม่ ๆ จึงนำไปสู่คำถามชวนคิดว่า เราจะต้องอยู่กับโควิด-19 ไปอีกนานแค่ไหน ? และบริบทของเศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ?

สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นเป็นลำดับนับตั้งแต่เดือนกันยายน แม้หลายประเทศเผชิญการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของสายพันธุ์เดลต้า สะท้อนจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่สัดส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสก็เพิ่มขึ้นจนเกินระดับ 1 ใน 3 ของประชากรทั่วโลก

เช่นเดียวกับประเทศไทยที่สถานการณ์ในภาพรวมดูเหมือนจะผ่านพ้นจุดวิกฤตไปแล้ว ทั้งในมิติของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งจากการยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ที่เข้มงวดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา การเร่งระดมฉีดวัคซีนในพื้นที่เสี่ยงสูง ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ให้สอดรับกับวิถีชีวิตแบบ new normal

ทำให้แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการระบาดระลอกล่าสุดของสายพันธุ์เดลต้าจะสูงกว่าระลอกแรกค่อนข้างมาก แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ล่าสุดกลับหดตัวน้อยกว่าช่วงของการระบาดระลอกแรกอย่างมีนัย

อย่างไรก็ดี การกลับมาแพร่ระบาดในวงกว้างภายหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค อาจไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมายหลังกระทรวงสาธารณสุขไทยประเมินว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะกลับมาเพิ่มสูงเกิน 1 หมื่นคนต่อวัน และจำนวนผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นเกิน 150 รายต่อวัน ซึ่งก็เริ่มเห็นตัวอย่างบ้างแล้วทั้งการระบาดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอีกหลายคลัสเตอร์ในภาคเหนือ และนั่นก็ทำให้หลายคนต้องกลับมาครุ่นคิดว่า “โรค” นี้จะหายไปจาก “โลก” นี้เมื่อไหร่ ? หรือเราจะต้องกลับไปล็อกดาวน์อีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ?

Krungthai COMPASS ประเมินว่า 4 เหตุผลที่โควิด-19 อาจกลายเป็นเชื้อไวรัสที่จะคงอยู่กับโลกของเราตลอดไป

ประการแรก : จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 แฝงยังมีอีกมาก โดยจากการวิเคราะห์ด้วยอัลกอริทึมจาก Machine Learning Model เพื่อประเมินตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐ พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจริงในประเทศอาจมากกว่าที่รายงานถึง 3 เท่า เช่นเดียวกับกระทรวงสาธารณสุขของไทยที่ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มผู้ที่ไม่มีอาการและไม่เคยตรวจเชื้อโควิด-19 อาจสูงถึง 5-6 เท่าของตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยัน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้สามารถแพร่เชื้อต่อได้ และกลายเป็น “พาหะ” ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อไปสู่คนใกล้ชิด หรือคนในครอบครัวได้ไม่ยากนัก

ประการที่สอง : ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับเปอร์เซ็นต์ของประชากรที่จะบรรลุเป้า herd immunity โดยสัดส่วนของผู้ได้รับวัคซีนป้องกันโรคจนนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) มีความแตกต่างกันไปในแต่ละโรค เช่น โรคคางทูม 75-86% โรคหัด 83-94% และโรคไอกรน 92-94% เป็นต้น ทั้งนี้ สำหรับโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 ที่ใช้เวลาในการศึกษาค้นคว้าไม่ถึง 2 ปี จึงยังไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ในระยะเวลาอันสั้น

ประการที่สาม : การฉีดวัคซีนในประชากรกลุ่มเด็กเล็กยังมีข้อถกเถียงค่อนข้างมาก ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ประเทศ อาทิ สหรัฐ และออสเตรเลีย ที่อนุมัติวัคซีน Pfizer เป็นการชั่วคราวให้แก่เด็กอายุ 12-15 ปี แต่ยังไม่มีการอนุมัติวัคซีนสำหรับเด็กอายุ 5-12 ปี ขณะที่ในอังกฤษ The Joint Committee on Vaccination and Immunisation กลับยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนให้แก่เด็กที่มีอายุ 12-15 ปี เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานหรืองานวิจัยสนับสนุนเพียงพอ

ประการสุดท้าย : แม้จะฉีดวัคซีนครบโดสแล้วแต่ก็ยังเสี่ยงติดเชื้อและสามารถแพร่กระจายโรคได้ แม้หลายประเทศเร่งระดมฉีดวัคซีนครบโดสได้เกินกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร อย่างเช่น สหรัฐ อังกฤษ อิสราเอล และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ล่าสุดกลับพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เร่งตัวขึ้นอย่างมากและนั่นหมายความว่า แม้ความเสี่ยงของการติดเชื้อขั้นรุนแรงจะลดลง แต่ประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสจำนวนมากยังสามารถติดเชื้อและแพร่กระจายโรคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าที่สามารถแพร่กระจายได้มากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม (สายพันธุ์อู่ฮั่น)

จากที่กล่าวมาข้างต้นนั่นหมายความว่า เราอาจต้องอยู่กับโควิด-19 ไปตลอดกาลในรูปแบบของโรคประจำถิ่น (endemic disease) ที่คล้ายคลึงกับโรคที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ (respiratory syncytial virus: RSV) หรือเป็นเชื้อที่มีลักษณะคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมักพบการระบาดได้ตามฤดูกาลเป็นประจำทุกปี

ยิ่งกว่านั้นการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิต้านทาน (booster dose) เป็นประจำเหมือนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากประสิทธิภาพของวัคซีนจะเริ่มถดถอยลงเมื่อต้องเผชิญกับเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ ดังเช่นตัวอย่างงานวิจัยของ Lancet (2021) ที่เผยแพร่ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนจากกลุ่มตัวอย่างที่ติดเชื้อโควิด-19 ในสกอตแลนด์ 19,543 ราย โดยชี้ให้เห็นว่าภายหลังจากกลุ่มตัวอย่างได้รับวัคซีนครบ 2 โดสไปแล้ว 14 วัน วัคซีน Pfizer มีประสิทธิภาพลดลงจาก 92% เป็น 79% และส่วนวัคซีน AstraZeneca ลดลงจาก 73% เป็น 60%

ดังนั้น เมื่อ “โลก” ต้องอยู่กับ “โรค” นี้ไปอีกนาน…มาตรการล็อกดาวน์อาจไม่ใช่คำตอบของบริบทการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหากมาตรการล็อกดาวน์ยาวนานเกินไป ซึ่งนอกจากจะสร้างผลเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าผลดีต่อระบบสาธารณสุขแล้ว ยังไม่ช่วยลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กล่าวคือ แม้มาตรการล็อกดาวน์และการเว้นระยะห่างทางสังคมจะสามารถลดการติดเชื้อได้ในวงกว้าง และลดความเสี่ยงจากวิกฤตด้านสาธารณสุข แต่ในทางกลับกันก็ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักและกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมให้ชะลอตัวในที่สุด

ยกตัวอย่างออสเตรเลียที่แต่ก่อนดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดมาโดยตลอด ทว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในระยะหลังกลับเร่งตัวขึ้นอย่างมาก จากการติดเชื้อในครอบครัวและเพื่อนบ้านเป็นหลัก จนนำไปสู่คลัสเตอร์การแพร่ระบาดในวงกว้าง

นอกจากนี้ การเร่งระดมฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดเป็น key driver หลักที่จะช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาเดินเครื่องได้เร็วขึ้น โดยหลายประเทศที่ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคค่อนข้างมาก และเร่งฉีดวัคซีนครบโดสเกินครึ่งของประชากร อาทิ สหรัฐ และยุโรป มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการสร้างความมั่นใจแก่ประชากรเพื่อฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการใช้ชีวิตให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด

และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การประเมินความพร้อมในการเปิดประเทศ ซึ่งโดยรวมแล้วสถานการณ์โควิด-19 ของไทยยังมีความเสี่ยงสูงในหลายมิติ อาทิ อัตราการตรวจเชื้อต่อวันที่ยังน้อย แต่กลับพบอัตราการตรวจพบที่ค่อนข้างสูง สัดส่วนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสที่ยังค่อนข้างต่ำและกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯและหัวเมืองท่องเที่ยวหลัก เป็นต้น

ดังนั้น การตัดสินใจเปิดประเทศของไทยควรมีเป้าหมายหรือ benchmark ที่ชัดเจนในเชิงตัวเลขที่สำคัญ ๆ ด้านสาธารณสุข เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ อัตราการตรวจพบ (positive rate) อัตราการเสียชีวิต (fatality rate) และสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนครบโดส เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าใจบริบทของสถานการณ์โรคระบาดไปในทิศทางเดียวกัน

ซึ่งนอกจากจะช่วยประเมินความพร้อมต่อการรับมือกับความเสี่ยงในระยะต่อไปแล้ว ยังจะช่วยสื่อสารให้ทุกภาคส่วนเห็นถึง balance ระหว่างการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจยุค new normal และ capacity ด้านสาธารณสุขอย่างแท้จริง