เปิดประเทศ 1 พ.ย. จุดเริ่มต้น…ของหลาย ๆ ปัญหา

ท่องเที่ยว
ชั้น 5 ประชาชาติ

ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า
[email protected]

 

ต้องบอกว่าการประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชาติจาก 63 ประเทศโดยไม่กักตัวตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น เสียงตอบรับมีทั้ง “ดอกไม้” และ “ก้อนหิน”

คนที่ให้ “ดอกไม้” มองว่า ประเทศเราจะปิดตัวอยู่แบบนี้ไม่ได้ และหากปล่อยให้ธุรกิจไม่สามารถเปิดทำมาหากินได้ ปัญหาใหญ่หลายเรื่องจะตามมาอีกมาก โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพราะส่วนใหญ่ปิดตัวกันมาเกือบ 2 ปีเต็ม ๆ แล้ว

ส่วน คนที่ให้ “ก้อนหิน” ก็มีคำถามว่า ประเทศมีมาตรการรับมือดีแค่ไหน และมั่นใจได้อย่างไรว่าเปิดประเทศแล้ว ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดจะไม่กลับมา หากเกิดโควิดระลอก 5 อีกครั้ง ระบบเศรษฐกิจของประเทศยิ่งพังไปมากกว่าที่เป็นอยู่อีก

ขณะที่ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ต่างก็เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดประเทศ เพื่อเปิดเศรษฐกิจ โดยใช้หลักการบริหารจัดการให้มีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด

ในมุมของผู้เขียนเองนั้นต้องบอกว่า เห็นด้วยกับนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาลอย่างมาก เพราะน่าจะเป็นหนทางเดียวในเวลานี้ที่จะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจมีช่องให้หายใจและรักษาธุรกิจไว้

เพราะระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้นพึ่งพารายได้จาก “การท่องเที่ยว” ในสัดส่วน GDP ถึงเกือบ 20%

แต่ประเด็นสำคัญคือ รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นให้คนในประเทศด้วยว่า มาตรการและเครื่องมือต่าง ๆที่รัฐบาลนำมาใช้สำหรับรองรับการ “เปิดประเทศ” นั้นมีมาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือ และสามารถตรวจสอบได้

โดยเฉพาะในเรื่องของการคัดกรองนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นระบบการตรวจสอบว่า ใบรับรองการได้รับวัคซีน หรือใบรับรองผล RT-PCR ว่าไม่ติดเชื้อโควิดไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง ฯลฯ เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่มีการปลอมแปลงเอกสารมาแต่อย่างใด

ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ รัฐบาลก็พยายามสื่อสารอยู่เป็นระยะ แต่อาจจะยังไม่มากพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในประเทศ

หลายคนถามมาว่า การที่รัฐบาลออกมาประกาศนโยบายการเปิดประเทศแบบไม่กักตัวสำหรับ 63 ประเทศในครั้งนี้ ประเทศ “ได้” หรือ “เสีย” มากกว่ากัน

คำตอบง่าย ๆ คือ ถ้าเปิดแล้วไม่มีการแพร่ระบาดโรคซึ่งกันและกัน นักท่องเที่ยวไม่เอาเชื้อโรคมาติดคนไทย และคนไทยไม่ได้เอาเชื้อโรคไปติดต่างชาติ แบบนี้คุ้มแน่ ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครที่จะการันตีได้ว่าผลของการเปิดประเทศครั้งนี้ ทุกฝ่ายจะรอดและปลอดภัย

และประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องมองให้รอบด้านคือ หลังจากนี้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยจะไม่เหมือนเดิม เราจะไม่เห็นนักท่องเที่ยวแห่กันมาเยอะ ๆ 39-40 ล้านคน เหมือนปี 2562

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวซึ่งเป็นฟากของซัพพลายบางส่วน ต้องหายไปจากตลาดแน่นอน

นอกจากนี้ เทรนด์การเดินทางของนักท่องเที่ยวจากนี้ไป จะเน้นในเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัย และความสะอาดเป็นอันดับแรก ประเด็นปัญหาหลาย ๆ อย่างที่ตามมากับมาตรการการสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยคือ ตอนนี้หลายหน่วยงาน หลายองค์กร ต่างพัฒนามาตรฐานของตัวเองออกมามากมายเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐาน SHA, SHA Plus, Thai Stop COVID ฯลฯ

เรียกว่ากว่าสถานประกอบการจะกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง ต้องมีตราสัญลักษณ์มาตรฐานอะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด ไม่เช่นนั้นเปิดไปก็ไม่มีคนกล้าเข้ามาใช้บริการ

หรือกรณีของการบังคับให้นักท่องเที่ยวโหลดแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ทั้งสำหรับเข้าประเทศ และเข้าพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ที่ยังสับสนอลหม่าน ไม่ว่าจะเป็น Thailand Pass ที่กระทรวงการต่างประเทศนำมาใช้แทนระบบการขอใบรับรองเข้าประเทศ (COE) สำหรับให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยลงทะเบียนและอัพโหลดเอกสารการเข้าประเทศ ที่ยังมีปัญหาตามมามากมายเต็มไปหมด

วันก่อน ผู้เขียนได้อ่านบทความสะท้อนปัญหาเรื่องเดินทางเข้าประเทศตามนโยบายเปิดประเทศของ “ดร.เจนเนตร มณีนาค” อาจารย์พิเศษคณะธุรกิจการบิน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่บอกเล่าว่า ตัวเองเดินทางมาจากแฟรงก์เฟิร์ต ถึงประเทศไทยวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เวลา 07.15 น. ประสบปัญหารอดำเนินการเพื่อเข้าประเทศประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง

โดยนอกจากต้องผ่านระบบ Thailand Pass แล้ว ยังต้องโหลดแอปพลิเคชั่นหมอชนะ, COSTE และ SHA+ ประมาณว่าเจอแบบนี้ทำเอาปวดหัวหนักมาก

ไม่เพียงเท่านี้ ประเด็นที่ผู้เขียนมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ และน่าจะส่งผลต่อการประเมินความเสี่ยงและโอกาสในการทำธุรกิจของกลุ่มผู้ประกอบการ คือ การสร้างภาพ “ลวงตา” ให้ผู้ประกอบการเข้าใจว่า การเปิดประเทศเป็นจุดเริ่มต้นที่ธุรกิจจะเดินหน้าต่อ และอยู่รอด

ไม่ว่าจะเป็นความพยายามที่จะบอกว่า การท่องเที่ยวของไทยกลับมาแน่นอน หลังจากรัฐบาลประกาศเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวจาก 63 ประเทศก็หลั่งไหลเข้ามา สายการบินต่างเพิ่มเส้นทางบินเข้าประเทศไทย หรืออะไรต่อมิอะไรที่เป็นภาพที่ทำให้ผู้ประกอบการคาดการณ์พลาด

ในประเด็นนี้ ผู้เขียนได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ประกอบการโรงแรมหลายแห่งในจังหวัดภูเก็ต พบว่า การคาดการณ์จำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวว่าจะเข้าประเทศวันละเท่าโน้น เดือนละเท่านี้นั้น ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนตัดสินใจลงทุน เพื่อกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง

แต่พอเปิดไปได้สัก 1-2 เดือนก็ต้องตัดสินใจปิด เพราะดีมานด์จริง ๆ ที่เข้ามา ไม่ได้สวยหรูตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ซึ่งในช่วง 3-4 เดือนที่จังหวัดภูเก็ตเปิด “แซนด์บอกซ์” นั้น มีโรงแรมจำนวนหนึ่งที่กลับมาเปิดแล้วต้องกลับไปปิดอีกครั้ง บอบช้ำตาม ๆ กันไป

เพราะตัวเลขการคาดการณ์นักท่องเที่ยว กับตัวเลขที่นักท่องเที่ยวมาจริงนั้น ยังห่างไกลกันมากมายนัก

และนี่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากกว่าครึ่งยังไม่กล้าขยับ ยังไม่กล้าลงทุนเพิ่ม เพราะรู้ว่าเริ่มต้นขยับเมื่อไหร่ ค่าใช้จ่ายจะตามมาทันที

ขณะที่ในส่วนของคนไทยเองก็ใช้ชีวิตยากขึ้น เช่น แค่ออกจากบ้านไปร้านนวด หรือรับประทานอาหารก็ต้องบังคับตรวจ ATK ปัญหาคือต้นทุนการใช้ชีวิตที่สูงขึ้น หากเป็นเช่นนี้เชื่อว่าสุดท้ายแล้วคนก็ไม่อยากออกจากบ้าน

จึงอยากบอกว่า 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นวันเริ่มต้นเปิดประเทศแบบไม่กักตัวแล้ว ยังเป็นวันเริ่มต้นของปัญหาต่าง ๆ ที่จะตามมาในอนาคตอีกมหาศาล…รอติดตามต่อไป