เริ่มต้นจากความกลัว นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง

คอลัมน์ Pawoot.com
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ชีวิตทุกวันนี้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ทุกอย่างโดนดิสรัปต์ไปเกือบหมด ไม่มีคำว่า “เป็นไปไม่ได้” อีกต่อไปแล้ว แต่เมื่อมีการดิสรัปต์เกิดขึ้นทุกคนก็ย่อมต้องเกิดความกังวลใจครับ ผมเพิ่งได้เรียนหลักสูตรหนึ่งพูดถึงเรื่องของการปรับเปลี่ยนต่าง ๆ ของธุรกิจในยุคปัจจุบัน ซึ่งผมเองได้ลองวิเคราะห์ออกมาดูว่าตอนนี้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการที่มีสตาร์ตอัพขึ้นมา มีฟินเทค มีอีคอมเมิร์ซเข้ามา ฯลฯ ตรงนี้ปลุกกระแสให้องค์กรเก่า ๆ ที่อยู่กันมา 30-40 ปีเริ่มเกิดความกลัวการเปลี่ยนแปลง เกิดพารานอยด์ องค์กรเหล่านี้จึงได้มีการปรับเปลี่ยนหรือปรับตัวกัน ที่เห็นได้ชัดมาก ๆ คือกลุ่มธนาคาร

ธนาคารที่เห็นได้ชัดก็เช่น SCB และ KBank เป็น 2 ธนาคารที่มีการดิสรัปต์ตนเอง ปรับตัวเองอยู่ตลอดเวลาด้วยความกลัวกระแสของสตาร์ตอัพ“ฟินเทค” ที่จะเข้ามาแย่งตลาด จึงกล้าตัดสินใจ กล้าเฉือนเนื้อตัวเอง จากเมื่อก่อนจะมีกำไรจากการโอนเงินระหว่างธนาคาร ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทันที

การตื่นกลัวหรือความระแวงของยักษ์ใหญ่นำมาซึ่งนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

ที่เห็นได้ชัดเจนมากอีกตัวอย่างคือ ความตื่นกลัวของเจ้าสัว การที่ “เซเว่นอีเลฟเว่น” มีการปรับตัวเพราะ “ฟู้ดดีลิเวอรี่” จะเข้ามากินมาร์เก็ตแชร์ คนจะอยู่บ้านมากขึ้นไม่ออกข้างนอกและสั่งอาหารผ่านพวกนี้ แอปฟู้ดดีลิเวอรี่คือภัยคุกคามของ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ทำให้มีแอป “เซเว่นดีลิเวอรี่” ซึ่งออกมาในจังหวะที่มีโควิดระบาดที่ต้องอยู่บ้านพอดี จึงได้ใช้กันอย่างจริงจังเลย

นั่นทำให้เห็นว่าสิ่งนี้เกิดจากความหวาดระแวงว่าจะมีธุรกิจอื่นเข้ามาล้มล้างจึงทำให้เกิดการแข่งขันขึ้น ความหวาดระแวงทำให้เกิดนวัตกรรม มองกลับกันธุรกิจอื่นที่ไม่เกิดความกลัว อยู่เฉย ๆ สังเกตว่าจะไม่เกิดนวัตกรรม ธุรกิจใหญ่ ๆ ยังเกิดความหวาดระแวงจนเกิดการปรับเปลี่ยน

หลักสูตรที่ผมไปเรียนมามีผู้บริหารของกลุ่มธุรกิจร้านสะดวกซื้อมาเรียนด้วย ผมถามไปว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างช่วงนั้น เขาบอกว่าต้องลงมือทำเลยแม้ไม่สมบูรณ์แบบแต่ก็ต้องทำ เมื่อผู้บริหารระดับสูงสั่งลงไปจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งองค์กร

ผมเชื่อว่าท่านที่เป็นผู้บริหารระดับสูงหรือหัวหน้าฝ่ายต่าง ๆ จะรอให้ลูกน้องทำก่อนไม่ได้ครับ ค่อย ๆ เปลี่ยนจากข้างล่างขึ้นมาไม่ทัน การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากข้างบนลงไปข้างล่าง เห็นได้ชัดว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาองค์กรขนาดใหญ่ของไทยเริ่มปรับเปลี่ยนตนเองเนื่องจากความกลัว อย่างธนาคารของไทยปรับตัวได้เร็วกว่าสตาร์ตอัพด้วยซ้ำ

กลุ่มบริษัทที่ปรับตัวเหล่านี้เริ่มสร้างและสะสมนวัตกรรมเป็นของตนเองแล้ว แต่การจะทำให้เกิดนวัตกรรมเหล่านี้ได้มีหลายวิธี

1.สร้างเป็น business unit ใหม่ขึ้นมา เช่น มีทีมนวัตกรรมขึ้นมาเลยเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมในการกระตุ้นเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมในองค์กร

2.บางคนใช้วิธีการ spin-off แยกออกไปเป็นบริษัท เพราะวัฒนธรรมขององค์กรขนาดใหญ่เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ อุ้ยอ้าย มีลำดับชั้นมากมาย ไม่เหมาะกับการสร้างนวัตกรรมในองค์กรแบบนี้ องค์กรต่าง ๆ จึงแยกออกไปเป็นของตนเองที่มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดวัฒนธรรมมากขึ้น

3.บางองค์กรที่แตกออกไปจะนำผู้บริหารระดับสูงที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจเข้ามา เห็นได้ชัดอย่างกลุ่ม SCB ที่มีการสร้างกลุ่ม SCB X หรือกลุ่มของโรบินฮู้ด เมื่อหัวมีการกระจายออกไปไม่รวมศูนย์ อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่หัวคนนั้น ทุกอย่างจะวิ่งเร็วมาก ตรงนี้จะทำให้การขยับตัวขององค์กรทำได้เร็ว

ผมมองว่าทุกอย่างต้องกลัวก่อน ต้องพารานอยด์ก่อน แล้วจะค่อย ๆ ไปต่อได้ ความกลัวเป็นสิ่งที่ดี และจะสร้างอิมแพ็กต์ให้เกิดความต่อเนื่อง แต่เราต้องสร้างแผนต่อว่าจะรับมือกับความกลัวนั้นอย่างไร คนที่ไม่กลัวนั้นน่ากลัวกว่าครับ