วิถีการทำงานนิวนอร์มอล

คอลัมน์ สามัญสำนึก
ดิษนีย์ นาคเจริญ

การช็อปปิ้งออนไลน์กลายเป็นสิ่งปกติสำหรับผู้บริโภคยุคนิวนอร์มอล แม้ก่อนโควิดจะคุ้นเคยกันอยู่แล้ว แต่มาเติบโตก้าวกระโดดขยายวงกว้างลงไปแทบในทุกกลุ่มอายุก็เพราะโควิด-19 ทำให้การขายสินค้า และบริการบนอีคอมเมิร์ซ, โซเชียลคอมเมิร์ซ, ฟู้ดดีลิเวอรี่ โตติดลมบนโดยมีโครงการภาครัฐ เช่น คนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน, ม33 เป็นต้น กระตุ้นอีกแรง ทำให้คนไทยคุ้นเคยกับการใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์

สังคมไทยไร้เงินสดไม่ใช่เรื่องไกลตัว

โควิด-19 เปลี่ยนหลายสิ่งไปตลอดกาล แม้แต่รูปแบบการทำงาน คำว่า “ทำงานจากที่บ้าน” (work from home : WFH) เป็นสิ่งปกติใหม่สำหรับมนุษย์เงินเดือน กระทั่งการระบาดเริ่มคลี่คลาย แต่รูปแบบการทำงานของบริษัทต่าง ๆ (จะ)ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

หลายบริษัทลดพื้นที่ส่วนตัว-เพิ่มพื้นที่ส่วนกลาง ปรับการทำงานเป็น “โมบายออฟฟิศ” บ้างประกาศนโยบายทำงานจากที่ไหนก็ได้ (work from anywhere)

จาก WFH สู่ “ไฮบริดเวิร์กกิ้ง” (hybrid working)

“โรเบิร์ต วอลเทอร์ส” บริษัทจัดหางานระดับมืออาชีพ สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานรูปแบบใหม่ในอนาคต กับผู้ที่มีหน้าที่ด้านสรรหาบุคลากร พนักงาน รวมไปถึงผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเองในประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย พบว่า เทรนด์ hybrid working จะเป็นวิถีปกติใหม่ในปี 2565 แบ่งได้ 3 รูปแบบ คือ

1.remote first เน้นทำงานจากที่บ้านเป็นหลัก ส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรด้านเทคโนโลยี และโทรคมนาคม 2.occasional office เข้าสำนักงานผสมกับทำงานจากที่บ้าน และ 3.office first ทุกคนต้องเข้าสำนักงาน แต่ทำงานจากที่บ้านได้ทันทีกรณีที่โควิด-19 พุ่งขึ้นอีกครั้ง หรือมีเหตุการณ์จำเป็นอื่น ๆ

“นัฐติยา ซอล” ผู้บริหารโรเบิร์ต วอลเทอร์ส แนะนำว่า สิ่งที่องค์กรต้องเตรียมรับมือการทำงานแบบ hybrid คือ 1.ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะใช้โมเดล hybrid แบบไหน และกำหนดวันทำงานที่บ้าน และที่สำนักงานให้ชัดเจน 2.กำหนดตัวชี้วัดสำคัญในการวัดผลงาน ต้องระวังการสร้างความเท่าเทียมระหว่างคนทำงานที่สำนักงาน และที่บ้าน

“ไม่ควรตัดสินว่าพนักงานที่มาทำงานที่สำนักงาน ขยันกว่าคนที่ทำงานจากบ้าน เพราะถ้าทำให้เกิดความรู้สึกเช่นนี้ในองค์กร จะนำไปสู่อัตราการลาออกสูง”

3.ต้องเตรียมพื้นที่ทำงานในสำนักงานให้ไม่แออัด เพื่อลดความเสี่ยงจากโควิด 4.เพิ่มกระบวนการทำงานที่เป็นดิจิทัล เช่น การส่งเอกสาร การเบิกจ่าย และ 5.หาวิธีฟีดแบ็กจากระยะไกลที่ชัดเจนระหว่างหัวหน้าและลูกน้องในช่วงที่ไม่ได้เจอกัน

กลุ่มบริษัทจีเอเบิลเป็นหนึ่งในบริษัทที่เตรียมปรับสู่วิถีการทำงานแบบไฮบริด หลังให้พนักงานทำงานที่บ้าน 100% มาตั้งแต่ พ.ค.ปีที่แล้ว

“ดร.ชัยยุทธ ชุณหะชา” กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทจีเอเบิล (G-Able) กล่าวว่า ในปี 2565 บริษัทจะมุ่งสู่การเป็น hybrid workplace ซึ่งการทำงานแบบผสมผสานระหว่างที่บ้านและที่ทำงาน มีข้อดีกว่าการ WFH 100% ตรงเปิดโอกาสให้พนักงานได้เจอกัน เพราะปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์แบบเจอหน้ากันยังจำเป็นต่อการทำงาน

บริษัทยังเตรียมปรับลดพื้นที่ในสำนักงานลง 40% เพื่อบริหารค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพขึ้น แล้วนำเงินส่วนนี้ไปช่วยพนักงาน เช่น สนับสนุนแล็ปทอปหรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการทำงานที่บ้านอื่น ๆ รวมถึงปรับให้มีจุดทำงานย่อยกระจายทั่วกรุงเทพฯ ตามเส้นทางรถไฟฟ้า

“พื้นที่สำนักงานที่ลดลงเหลือ 60% จะทำเป็น coworking space เน้นให้พนักงานใช้พื้นที่ส่วนกลาง เป็นพื้นที่เปิด ไม่มีที่นั่งประจำตำแหน่ง โดยจะสลับทีมกันเข้ามา และทุกวันศุกร์จะให้แต่ละทีมมาสังสรรค์กันในออฟฟิศ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานไม่ให้ห่างเหิน”

การทำงานแบบไฮบริดน่าจะเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ดังจะเห็นได้จากองค์กรใหญ่ ๆ บางแห่งเริ่มยกเลิกพื้นที่สำนักงานในบางแผนก นั่นทำให้บริษัทต่างๆ ต้องหันกลับมาบริหารจัดการโลกการทำงานหลังโควิด-19 เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ควบคู่ไปกับการทำให้พนักงานมีความสุขอย่างจริงจัง