ประกันรายได้ทะลุ 1 แสนล้าน

นาข้าว
ชั้น 5

กษมา ประชาชาติ

 

ปีนี้รัฐบาลเริ่มเปิดดำเนินนโยบายการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยยังคงกำหนดราคาประกันข้าวและหลักเกณฑ์เท่ากับเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

ส่วน “ราคาอ้างอิง” ซึ่งเป็นราคาเกณฑ์กลางที่คำนวณมาจากราคาตลาดปกติ นำมาใช้เป็นฐานการคำนวณอัตราชดเชยนั้น ล่าสุดรัฐประกาศราคาอ้างอิง งวดที่ 1 เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2564 สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ที่ระบุวันเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 15 ต.ค. 2564

ประกอบด้วย ข้าวเปลือกหอมมะลิ ซึ่งราคาประกัน 15,000 บาท หักราคาอ้างอิง 10,864.23 บาท/ตัน ต้องชดเชยตันละ 4,135.77 บาท ให้จำกัดรายละ 14 ตัน, ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกัน 14,000 บาท หักราคาอ้างอิง 10,407.75 บาท/ตัน ต้องชดเชยตันละ 3,595.25 บาท ให้รายละ 16 ตัน

ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 บาทต่อตัน ราคาอ้างอิง 9,947.87 บาท/ตัน ต้องชดเชยตันละ 1,052.13 บาท ให้รายละ 25 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกัน 10,000 บาทต่อตัน ราคาอ้างอิง 8,065.38 บาท/ตัน ต้องชดเชยตันละ 1,934.62 บาท ให้รายละ 30 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกัน 12,000 บาท ราคาอ้างอิง 7,662.53 บาท/ตัน ชดเชยตันละ 4,337.47 บาท ให้รายละ 16 ตัน ซึ่งทั้งโครงการรอบนี้มีกำหนดต้องดำเนินการจ่ายประกันทั้งหมด 33 งวด

ดูผิวเผินเหมือนเกษตรกรจะไม่เดือดร้อน เมื่อราคาข้าวลดลงเหลือตันละ 5,800-5,900 บาท เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนแล้วย่อมจะได้รับเงินชดเชยใน “อัตราสูง” คนที่จะเดือดร้อนคือ รัฐที่ต้องจ่ายอ่วม

ความเข้าใจนี้ไม่ถูกต้อง เพราะโครงการนี้จำกัดการประกันรายได้ไว้ตามชนิดข้าว เช่น เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิจะได้รับชดเชยเพียงจำกัดแค่ครัวเรือนละ 14 ตันเท่านั้น นั่นหมายความว่า หากเกษตรกรปลูกข้าวได้ 20 ตัน ได้รับชดเชย 14 ตัน ส่วนอีก 4 ตัน ก็ต้องเอาไปขายในราคาตลาดปกติ ถ้าราคาตลาดสูงก็ขายได้เงินเยอะ แต่ถ้าราคาตลาดถูกก็ได้เงินน้อยลง

ฉะนั้น ยิ่งเกษตรกรปลูกข้าวมากเท่าไรก็จะยิ่งเดือดร้อนจากปัญหาราคาข้าวตกต่ำมากเท่านั้น เช่น ปลูกได้ 20 ตัน อาจเดือดร้อน 4 ตัน แล้วถ้าปลูกสัก 100 ตัน จะเดือดร้อนถึง 86 ตัน

ซึ่งปีนี้ประเมินว่าผลผลิตข้าวหอมมะลิจะมีเพิ่มขึ้นจากปกติที่เก็บเกี่ยวได้ 6-7 ล้านตัน เพราะ “ฝนดี” ทำให้ “นาดอนในภาคอีสาน” มีผลผลิตข้าวดีขึ้น เท่ากับว่า ปีนี้จะเป็นปีที่เกษตรกรเดือดร้อนมาก และรัฐต้องจ่ายเงินเพิ่มเช่นกัน

ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องใน “ซัพพลายเชน” อย่าง “โรงสี” จะกลายเป็นผู้ร้ายเบอร์ 1 ที่กดราคารับซื้อข้าวตามความเข้าใจของคนทั่วไป แต่ที่ผ่านมาโรงสีแจงว่าด้วยจำนวนโรงสีมากขึ้น และมีกำลังการผลิตล้นมากกว่าปริมาณข้าวเปลือก 3 เท่า

ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดก็ต้องแย่งกันซื้อวัตถุดิบแพงขึ้น และต้องไปขายถูกลง เพราะปลายทางคือผู้ส่งออกข้าวมีจำนวนน้อยราย และยังประสบปัญหาตลาดส่งออกแข่งขันสูง ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนและมีราคาแพง ต้องมา “ลด” ราคาซื้อข้าวสารจากโรงสี เพื่อคงกำไรไว้ให้ได้ แน่นอนว่ากลไกตอนนี้ที่น่าห่วงคือ “ภาคการส่งออก”

วงจรนี้ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นในปีนี้ แต่มันส่งสัญญาณมา 3 ปีแล้วนับจากมีโครงการประกันรายได้ ซึ่งปกติไทยผลิตข้าวได้ 33 ล้านตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 18-20 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งจะส่งออกเฉลี่ยต่อปี 9-10 ล้านตัน และใช้บริโภคภายในอีก 9-10 ล้านตัน แต่การส่งออกปรับลดลงมาเรื่อย ๆ จาก 9 ล้านตัน เหลือ 7 ล้านตัน และในปีนี้จะเหลือแค่ 6 ล้านตัน ส่วนการบริโภคก็ลดลงเช่นกัน จาก 9 ล้านตัน

คาดว่าจะเหลือ 6 ล้านตัน เพราะนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บริโภคข้าวไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ และคนไทยบริโภคข้าวลดลง เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ “ข้าวเหนียว” ราคาดิ่งที่สุด เพราะตลาดในประเทศคือตลาดหลักของข้าวชนิดนี้

ประเด็นที่ต้องโฟกัสอย่างมากคือ “สต๊อกล้น” ปีละตันละ 4-6 ล้านตัน ที่เหลือจากส่งออกและตลาดในประเทศมาบรรจบกับ “ผลผลิตใหม่” จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า เหตุใดราคาข้าวปีนี้ถูกกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

ทางออกมีหลายทางอยู่ที่จะ “เลือกหรือไม่เลือก”

1) การปรับลดราคาประกันข้าวลงให้สอดคล้องกับราคาตลาดปกติ ซึ่งทางออกนี้ “รัฐ” ที่อยู่ในภาวะใกล้เปลี่ยนผ่านสู่การเลือกตั้งใหม่ย่อมไม่เลือกแน่นอน เพราะโครงการนี้เทียบได้กับจุดแข็งสำหรับหาเสียง ที่ในอดีตรัฐบาลใช้นโยบายจำนำ

2) การให้ชาวนาลดพื้นที่ปลูก (เป็นไปได้ยากมาก) เพราะการให้เงินประกันเหมือนเงินให้เปล่า สร้างความเคยชินให้กับชาวนาได้เงินง่าย ๆ ก็จะไม่มีทางจะเลิกปลูกและไม่มีทางพัฒนาผลผลิต ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ ชาวนารู้ว่า “จำกัดปริมาณประกันครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน” คนที่เคยปลูกมากก็ไป “แตกโฉนด” ให้เป็นรายย่อย เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวได้รับประกันรายได้คนละ 14 ตัน ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ยอดจดทะเบียนเกษตรกรจะเพิ่มขึ้น 15% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

และ 3) การหาทางระบายข้าวส่วนเกิน ซึ่งหากคำนวณแล้วข้าวก้อนนี้มีประมาณ 30% ของผลผลิต “เท่ากับ” เมื่อครั้งใช้โครงการรับจำนำในอดีต

ซึ่งหลักการจำนำข้าวคือการดึงผลผลิตส่วนเกินมาเก็บไว้ เพื่อยกระดับราคา แล้วค่อยระบายออกหลังจากราคาตลาดขยับสูงขึ้น “หลักการของโครงการไม่ได้ผิด แต่วิธีการไม่ถูก” ทั้งการกำหนดราคาจำนำสูงกว่าตลาด และกำหนดปริมาณเป้าหมายจำนำทุกเม็ดเพื่อหาเสียง จนกลายเป็นช่องทางในการทุจริตหาประโยชน์จากสต๊อกข้าว

แต่เมื่อเปลี่ยนพรรคเปลี่ยนระบบมาใช้ “ประกันรายได้” จุดอ่อนของรัฐ คือ ไม่ได้คิดถึงแผนการระบายข้าว หรืออาจคิดแต่ไม่ทันกาล นโยบายการใช้ตลาดนำการผลิตเป็นหลักการที่ถูกต้อง แต่ถ้าตลาดขาลงการผลิตต้องปรับด้วยเช่นกัน ส่งออกขาลงไม่มีตลาดใหม่ ๆ เลย ออร์เดอร์จีทูจีก็ไม่มี ขณะที่ชาวนายังคงผลิตเท่าเดิม ส่วนข้าวพันธุ์ใหม่ไม่มีมาแข่งอีก ต้นทุนต่อไร่สูงมาก

เป็นที่น่าสังเกตว่ามีแนวทางหนึ่งที่เอกชนเสนอไอเดียช่วย โดยดึงผู้ผลิตอาหารสัตว์มาซื้อข้าวแทน เพื่อเป็นการระบายสต๊อกยกระดับราคา และยังช่วยผู้ผลิตอาหารสัตว์ให้มีวัตถุดิบราคาถูกทดแทนวัตถุดิบนำเข้า อย่างข้าวสาลีในตลาดโลกซึ่งเวลานี้มีราคาสูงมาก แถมเรือไม่มี แต่ไอเดียเป็นไปอย่างทุลักทุเล ประเด็นคือ “ราคารับซื้อ” ไม่คลิกกัน เพราะฝ่ายซื้อต้องการของถูก ฝ่ายขายอยากได้ราคาแพง เพื่อจะไปยกระดับราคาข้าวเปลือกปลายทาง อัตราต่อรองอยู่ที่แค่ กก.ละ 1 บาท แต่ยื้อกันมานานเป็นเดือน

ซึ่ง “รัฐ” เป็นคนกลาง อาจแทรกเสริมช่วยชดเชยส่วนต่างให้กับ 2 ฝ่าย กก.ละ 1 บาท ดันโครงการนี้ให้เกิด นับเป็นหนทางหนึ่งที่น่าทดลอง ปกติไทยใช้ปลายข้าวผลิตอาหารสัตว์ปีละ 1 ล้านตัน ที่เหลือผลผลิตข้าวโพดไม่พอก็ต้องนำเข้าข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ หรือ DDGS เหตุใดไม่ทดลองหันมาช่วยกันในประเทศก่อน เพราะนอกเหนือจากผู้ใช้กลุ่มอาหารสัตว์แล้วก็ยังมองไม่เห็นช่องทางอื่นที่พอเป็นไปได้ หรือหากจะเอาไปขายเป็นวัตถุดิบผลิตชีวมวล ราคาจะยิ่งต่ำกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปอีก

เข้าใจภาครัฐก็ได้พยายามวางมาตรการคู่ขนานประกันราคา เพื่อดึงซัพพลายส่วนเกินออกสู่ตลาด ทั้งเก็บฝากยุ้งฉาง (จำนำยุ้งฉาง) การสินเชื่อให้โรงสีช่วยซื้อ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ สะท้อนจากราคาตลาดที่ไหลลงต่อเนื่องในช่วง 3 ปี และยิ่งมาเจอเศรษฐกิจแบบนี้ เห็นทีชาวนาที่รับเงินประกันแล้วคงขายข้าวเพื่อนำเงินไปหมุนใช้ในชีวิตประจำวัน

หนีไม่พ้นรัฐ ที่ต้องควานหาเงินมาจ่ายชดเชย คาดการณ์ว่า 80,000 ล้านบาท รวมกับค่าช่วยเก็บเกี่ยวตันละ 1,500 บาท หากราคาลงไปเรื่อย ๆ 33 งวด ตันละ 3,000-4,000 บาท การชดเชยน่าจะบานปลายกว่า 1.4-1.5 แสนล้านบาท สุดท้ายกลายเป็นผลงานบัญชีตัวแดง…ไม่ใช่ผลงานโบแดงอย่างที่หวังแน่นอน