งานใหญ่ของ ดร.ศิริ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดยถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

การปรับ ครม.ประยุทธ์ 5 ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงพลังงาน จาก พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็น ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปิโตรเลียม-ปิโตรเคมีคนหนึ่งของประเทศไทย

จากประวัติของท่าน จบการศึกษาระดับไฮสกูลจาก Seventh Day Adventist จากนั้นเข้าไปศึกษาต่อที่ California Institute of Technology (Caltech) สาขาวิศวกรรมเคมี จนจบเกียรตินิยม และเข้าเรียนต่อระดับปริญญาเอกในสาขาเดียวกันที่ MIT (Massachusetts Institute of Technology) จากนั้นกลับมาทำงานในประเทศไทย เป็นผู้วาง “รากฐาน” อุตสาหกรรมปิโตรเคมีให้กับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยในขณะนั้น และนำมาซึ่งการจัดตั้งบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติในขณะนั้น

นอกจากนั้น ดร.ศิริยังได้เข้าร่วมงานกับธนาคารกรุงเทพ ในยุคที่แบงก์สนใจอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อีกทั้งมีประสบการณ์ในการออกแบบโรงแยกก๊าซ-โรงกลั่นน้ำมัน ที่สำคัญคือ เข้าใจลึกซึ้งถึงข้อดี-ข้อเสียของระบบการให้สัมปทานปิโตรเลียมในประเทศที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่ Thailand I-II-III-IV อีกด้วย

สรุปว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญมีความรู้ความสามารถรู้ “เท่าทัน” ทั้งฝ่ายสนับสนุนให้ใช้ระบบสัมปทานกับฝ่ายต่อต้านระบบสัมปทาน ซึ่งน่าจะเป็น “คุณสมบัติพิเศษ” ที่ได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้มากำกับดูแลการกระทรวงพลังงาน

“งาน” สำคัญของ ดร.ศิริ ตลอดอายุของรัฐบาล คสช.คือ การผลักดันเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่หรือรอบที่ 21 ซึ่งเป็น “งานค้าง” ที่ พล.อ.อนันตพร ยังไม่สามารถเปิดประมูลแปลงสำรวจปิโตรเลียมโดยเฉพาะ แหล่งบงกช-เอราวัณ ซึ่งมีศักยภาพให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

ถามว่า ค้างนานแค่ไหนถ้านับจากวันที่ ครม.ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมในเดือน พ.ค. 2558 ก็เกือบ 3 ปี ตามมาด้วยการออกกฎหมายลูก กฎกระทรวง ประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม สาระสำคัญอยู่ที่การ “เพิ่มเติม” การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จากเดิมที่ให้ “สัมปทาน” เพียงอย่างเดียวมาเป็น “สัญญา” แบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) กับแบบจ้างบริการ (SC) โดยเริ่มใช้ระบบสัญญาใหม่กับแหล่งบงกช-เอราวัณ ที่จะหมดอายุสัมปทานปี 2565-2566

ทั้งหมดนี้ควรจะต้องเริ่มต้นกระบวนการให้สิทธิ-สำรวจในเดือน ก.ย. 2560 แต่สะดุด เนื่องจากยังมี “ข้อถกเถียง” ในร่าง TOR ระบบใหม่

แต่พลันที่ ครม.ใหม่ปรากฏชื่อของ ดร.ศิริเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็มีเสียงเตือนจากเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย หรือ คปพ. ซึ่งนิยมแนวทางการให้สิทธิสำรวจปิโตรเลียมแบบระบบแบ่งปันผลผลิต-สัญญาจ้างบริการว่า รัฐมนตรีท่านนี้ “ชอบระบบสัมปทานมากกว่าระบบแบ่งปันผลผลิต” จากบทสัมภาษณ์เก่าตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 ซึ่งตอนนั้น ดร.ท่านนี้ยังไม่มีเค้าว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแต่อย่างใด

ทว่าการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ หรือรอบที่ 21 นั้น ในร่างประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการที่ผ่าน ครม.รอบแรกไปแล้วนั้น ได้เขียนไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า การจะนำระบบใดมาใช้ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้น ให้ใช้เกณฑ์จากภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียม-โอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ (ร้อยละ)

ดังนั้นการแปรเปลี่ยนจากการใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) กลับมาเป็นระบบสัมปทานในการเปิดประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณตามข้อกังวล จึงเป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการ “ยกเว้น” แต่ไม่มีผู้สนใจยื่นเข้าประมูล ซึ่งหลักการทั้งหมดนี้ได้ถูก “ผูก” เอาไว้ในร่างประกาศมาตั้งแต่ก่อน รมต.ท่านนี้จะเข้ารับตำแหน่งเสียอีก