สังคมหมู่…พลิกประเทศ

ชั้น 5 ประชาชาติ
ชั้น 5 ประชาชาติ
ณัฐวุฒิ ประชาชาติ

ไม่นานมานี้ วงการธุรกิจตื่นเต้นกับข่าวที่ SCB เข้าซื้อ Bitkub เป็นสัดส่วน 51% รวมมูลค่า 17,850 ล้านบาท

Bitkub ของท็อป “จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” กลายเป็นสตาร์ตอัพยูนิคอร์นตัวใหม่ของไทย ต่อจาก Flash express

แต่กว่าจะมาถึงจุดความสำเร็จของ Bitkub ไม่ใช่เรื่องง่าย

“ท็อป จิรายุส” ต้องฝ่าด่านกลไกรัฐราชการคอยตรวจสอบว่าธุรกิจเทรดเงินสกุลดิจิทัลนั้นเป็นธุรกิจสีเทาหรือไม่

เขาถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสรรพากร ธนาคารแห่งประเทศไทย เรียกไปชี้แจงหลายครั้งหลายหน

นานวันเข้า ธุรกรรมการเงินดิจิทัล จากกระแสรองเริ่มเติบโตกลายเป็นกระแสหลัก

“สังคมหมู่” ของโลก หันมาพูดถึง “สกุลเงินดิจิทัล” กันมากขึ้น

วันนี้ภาครัฐไม่อาจปฏิเสธการมีอยู่ของ Bitkub แพลตฟอร์มเทรดเหรียญดิจิทัล

มาวันนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก Bitkub

อีกฟากหนึ่ง “กฤษฎา ตันเทิดทิตย์” ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย อดีตรองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และก่อนลงสมัคร ส.ส. เคยเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด

ด้วยความที่เป็นคนหนองคาย แต่ไปเรียนปริญญาตรี-โท ที่ Middle Tennessee State University ประเทศสหรัฐอเมริกา

เขาตั้งใจอยากให้ภาคอีสาน แปลงร่างเป็น silicon valley ของไทย เป้าหมายสูงสุด อยากให้หนองคายเป็นเมืองอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์

เขาให้เหตุผลว่า แม้ก่อนหน้านี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอนที่มีทีมเศรษฐกิจ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” และกลุ่ม 4 กุมาร เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตั้งแต่ยุคที่เป็นรัฐบาล คสช. จนถึงช่วงต้นของรัฐบาลพลังประชารัฐ

ต้องการผลักดันให้ เชียงใหม่-ภูเก็ต เป็นเมืองแห่งการกำเนิดสตาร์ตอัพ

โดยเฉพาะผลักดันให้ “ภูเก็ต” เป็น smart city โดยสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SiPA) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

ผ่านมาหลายปี ทุกอย่างเหมือนหยุดนิ่ง เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอาเซียน สิงคโปร์-อินโดนีเซีย-มาเลเซีย เขามีสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นมาตีตลาดไทยมานานมากแล้ว Grab Gojek Shopee

อาจเพราะโครงสร้างรัฐหลาย ๆ อย่างที่ไม่เอื้อต่อการกำเนิดสตาร์ตอัพ

จึงอยากให้หนองคาย และภาคอีสาน เป็นแหล่งเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ จากภูมิภาคที่เน้นด้านการเกษตรเป็นหลัก

กับคำถามคำใหญ่ เรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยจะ “อัพเกรด” คนได้อย่างไร โดยเฉพาะระบบการศึกษาของรัฐบาล เมื่อเทียบมหาอำนาจทางเทคโนโลยีใหม่อย่างจีน หรือประเทศซึ่งเต็มไปด้วยเทคโนโลยีอย่าง ญี่ปุ่น kick off เพิ่มหลักสูตรให้เด็กเรียนเขียนโปรแกรมตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมไปหลายปีแล้ว

“กฤษฎา” บอกว่า ถ้ารัฐบาลสนับสนุน-ส่งเสริมอย่างจริงจัง ไม่มีอะไรสายเกินไป กับกระทรวงศึกษาธิการที่มีงบประมาณเป็นแสนล้านบาท

อันดับแรก เขาชี้ว่า หมดเวลาที่เงินเดือนครูในภาครัฐ เป็นเงินเดือนที่ค่าจ้างถูกแล้ว เพื่อดึงคนเก่ง ๆ เข้าสู่อาชีพครู

อันดับต่อมา ใช้ “สังคมหมู่” ช่วยกันพัฒนาศักยภาพเด็กไทย

“ตอนที่เรียนอยู่สหรัฐอเมริกา เพื่อนผมจากอินเดีย เขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ได้เก่งกว่าเพื่อนชาวอเมริกันที่เรียนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เสียอีก”

ถามเขาว่าทำไม… กฤษฎาตอบว่า ก็เพราะคนอินเดีย ตื่นขึ้นมาก็เขียนโค้ด หันไปทางไหน เขาก็เขียนโค้ด ทุกคนเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์กันหมด ศึกษาจากหนังสือด้วยตัวเอง ค่อย ๆ ฝึกจนเก่ง…

เหมือนที่ “ญาดา ปิยจอมขวัญ” Cofounder ผู้ร่วมก่อตั้ง Ajaib ยูนิคอร์นตัวล่าสุดของอินโดนีเซีย เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในสื่อหลาย ๆ ถึงจุดเริ่มต้นการทำสตาร์ตอัพของเธอ

ญาดา-เธอเป็นเด็กพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ ไม่ได้จบสายเทคโนโลยี เริ่มต้นทำงานตำแหน่ง Consulting ที่ McKinsey ก่อนไปเรียนปริญญาโท MBA ที่ Stanford University

เธอเล่าว่า ตอนที่ไปเรียนสแตนฟอร์ด อาจารย์บอกว่า จะเปิดร้านกาแฟ ฟินเทค สตาร์ตอัพ มีปัญหาเรื่องคน มีความเครียด มีความรับผิดชอบ มีความยากเหมือนกัน ถ้าคิดจะทำอะไรที่ยาก ๆ แล้ว ควรจะทำอะไรที่เป็น อิมแพ็กต์เยอะ ๆ ดีกว่า

“เพื่อน ๆ ที่สแตนฟอร์ดมี 400 คนในคลาส แต่มี 180 คนทำสตาร์ตอัพ จึงเริ่มทำ ลองทำดู ตอนที่อยู่มหาวิทยาลัย มันเหมือนเป็นเรื่องธรรมดามากที่ทุกคนที่ทำ เลยรู้สึกว่าเราน่าจะทำได้มั้ง แม้ไม่มีประสบการณ์ด้านเทค”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่มากก็น้อยที่สิ่งแวดล้อม ที่สแตนฟอร์ดได้หล่อหลอมเธอมาจนถึงจุดสำเร็จ

จากวันที่เริ่มต้น Ajaib เมื่อปี 2018 ถึงวันที่ “ญาดา” และเพื่อนร่วมคลาส Anderson Sumarli สัญชาติอินโดนีเซีย สามารถพาสตาร์ตอัพเติบโตไปไกลระดับยูนิคอร์น

หันกลับมาที่เมืองไทย “สังคมหมู่” ในวันเลือกตั้ง…ไม่ว่าปี 2565 หรือ 2566


ถ้ามากพอ อาจพลิกโฉมประเทศได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง…