การเกษตรแบบแนวตั้ง จุดเปลี่ยนแก้ปัญหาโลกรวน ?

ฟาร์ม
นอกรอบ
รณดล นุ่มนนท์

 

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-12 พฤศจิกายน 2021 ซึ่งมีผู้นำทั่วโลกกว่า 120 ประเทศ พร้อมผู้เข้าร่วมประชุมอีก 25,000 คน ได้ปิดฉากลงไปแล้ว

บทสรุปจากเวทีครั้งนี้มีพันธสัญญาร่วมกันว่าจะจำกัดการเพิ่มขึ้นอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่ละประเทศจะต้องไม่ตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030 และระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2050 หรืออีก 29 ปีข้างหน้า และต้องลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง 30 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับระดับปี 2020

อย่างไรก็ดี ผู้สันทัดกรณียังมองว่าคำมั่นสัญญาดังกล่าวนี้เป็นเพียงคำขายฝัน เพราะในความเป็นจริงทุก 1 องศาเซลเซียสที่สูงขึ้น ปริมาณน้ำในอากาศจะเพิ่มขึ้น 7-10 เปอร์เซ็นต์ และในอนาคตฤดูมรสุมฝนจะมากกว่าปกติ 1-3 เท่า ฤดูแล้งจะแล้งกว่า 3-4 เท่า

ขณะเดียวกัน ผู้นำจีนและอินเดียก็เลือกไม่เข้าประชุม แสดงให้เห็นถึงความคิดที่แตกต่างกันระหว่างประเทศพัฒนากับประเทศกำลังพัฒนา

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของสาธารณรัฐประชาชนจีนให้ข้อคิดว่า “สมาชิก G20 ควรเป็นผู้นำส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และการจัดการเงินทุนให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายตามพันธกรณีอย่างจริงจัง”

ไม่ว่าผลการประชุม COP26 จะเป็นอย่างไร ที่แน่ ๆ เราได้เห็นปรากฏการณ์โลกรวน (climate change) ขึ้นเรื่อย ๆ จากภัยธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยครั้ง ที่สำคัญภัยนี้เข้าใกล้ตัวมากขึ้น

เห็นได้จากมรสุมหลายระลอกซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน เข้าประเทศไทยในปีนี้น้ำในแม่น้ำเกือบทุกสายขึ้นล้นตลิ่งแบบไม่ทันได้ตั้งตัว รวมถึงภาวะฝุ่นละอองที่เพิ่มสูงขึ้นจนทำให้เราต้องนั่งจับจ้องค่า PM 2.5 แทนตัวเลขจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในแต่ละวัน

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เราอาจมองข้ามไป คือ จำนวนประชากรโลกในอีก 50 ปีข้างหน้า ประชากรจะเพิ่มจาก 6.2 พันล้านคน เป็น 9.5 พันล้านคน ขณะที่ปัจจุบันเรใช้พื้นที่ที่มีศักยภาพในการทำการเกษตรถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อถึงตอนนั้นการเกษตรแบบดั้งเดิมจะเลี้ยงคนทั่วโลกได้อย่างไรเราคงนึกภาพนี้ไม่ออก

จากที่เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” จึงเป็นที่มาของการต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรใหม่ผสมผสานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน และหนึ่งในรูปแบบที่มาแรง คือ การทำเกษตรแบบแนวตั้ง “vertical farming” ซึ่งมีการดำเนินการแล้วในอดีตเมื่อ 600 ปีก่อนคริสตกาล

ได้แก่ การทำสวนลอยที่บาบิโลน (Hanging Gardens) ตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำยูเฟรติส ประเทศอิรักในปัจจุบัน ที่สร้างเป็นระเบียงสูงถึง 100 เมตร ทุกชั้นได้รับการตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ยืนพุ่มชนิดต่าง ๆ มีระบบชลประทานชักน้ำจากแม่น้ำยูเฟรติสไปเลี้ยงต้นไม้ได้ตลอดปี

สำหรับปัจจุบันแนวคิดเรื่องเกษตรแนวตั้ง เกิดขึ้นเมื่อปี 1999 จากผลการศึกษาของศาสตราจารย์ดิกสัน เดสปอมเมียร์ (Dickson Despommier) แห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยโคลอมเบีย สหรัฐอเมริกา

ที่วางรูปแบบการเพาะปลูกในโรงเรือนมีหลังคาลักษณะเป็นชั้น ๆ เพาะเลี้ยงพืชโดยไม่ต้องใช้ดิน และนำเทคโนโลยีมาควบคุมอุณหภูมิ ปริมาณน้ำ สารอาหาร ใช้แสงไฟ LED แทนแสงแดด ทำให้สามารถควบคุมปัจจัยภายนอกได้ดีกว่าการปลูกกลางแจ้งที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ ไม่ต้องใช้พื้นที่กว้างใหญ่ที่กว่าจะรดน้ำพรวนดินแต่ละครั้งกินเวลาเป็นวัน ๆ

vertical farming เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว สิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่ทำสวนผักแนวตั้งเชิงพาณิชย์ชื่อ Singapore Sky Green Farm ปลูกผักในเรือนกระจกขนาดใหญ่ มีทั้งหมด 120 ล็อก ให้ผลผลิตกว่า 0.5 ตัน โดยใช้เวลาเพาะปลูกสั้นมาก เก็บเกี่ยวเสร็จหมดเพียง 4 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม vertical farming ที่ผมตะลึงที่สุด คือ AppHarvest เรือนกระจกใหญ่ที่สุดในโลก มีพื้นที่กว่า 150 ไร่อยู่ริมเขาในเมือง Appalachia มลรัฐ Kentucky ซึ่งเคยเป็นเหมืองถ่านหินที่ถูกปิดไปแล้ว เป็นเรือนกระจกปลูกมะเขือเทศที่ชุบชีวิตเมืองซึ่งประชากรเคยมีรายได้ต่ำสุดให้กลับมาเจริญมีชีวิตชีวา

นับจากปี 2020 ที่เริ่มเปิดดำเนินการการปลูกมะเขือเทศด้วย vertical farming แห่งนี้ ใช้พื้นที่น้อยกว่าแนวราบมาก แต่ได้ผลผลิตมากกว่า 30 เท่า ใช้น้ำน้อยกว่าถึง 90 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องใช้ดินเลย

มีเซ็นเซอร์กระจายอยู่กว่า 300 จุด และมีปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะ (AI) ควบคุมสภาพแวดล้อมและมีสารอาหารและน้ำเพียงพอเพื่อดูแลมะเขือเทศกว่า 7 แสนต้น และที่น่าอัศจรรย์ที่สุด คือ การใช้หุ่นยนต์มาเก็บเกี่ยวมะเขือเทศ เจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้มีตาวิเศษที่รู้ว่ามะเขือเทศผลใดสุก แถมยังมีมือวิเศษยื่นออกไปตัดผลมะเขือเทศจากต้นได้อย่างคล่องแคล่วเร็วกว่าฝีมือมนุษย์

จอช เลสซิง (Josh Lessing) ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีของ AppHarvest กล่าวว่า “การทำการเกษตรเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโลกรวน จึงต้องเนรมิตให้เกิดวิถีเกษตรรูปแบบใหม่ที่ต้องทำต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ตอบโจทย์การเติบโตยั่งยืนด้วยการไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่สร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับการทำเกษตรแบบดั้งเดิม”

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามของมนุษย์ที่จะคิด vertical farming ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง เช่น การปลูกผักสลัดและสตรอว์เบอรี่ในอุโมงค์ลอดภูเขายาวถึง 600 เมตรที่ไม่ได้ใช้งานแล้วในเมือง Chungcheong เกาหลีใต้ มีการใช้ระบบการควบคุมแสงสีชมพูและเสียงเพลงคลาสสิของ Beethoven และ Schubert เพื่อเป็นแรงกระตุ้นในการเติบโตอย่างสมบูรณ์และงดงามของผักและผลสตรอว์เบอรี่อีกด้วย

ที่น่าตื่นเต้น vertical farming ไม่เพียงการปลูกในเรือนกระจกและอุโมงค์แต่ได้เริ่มปลูกลงใต้ดินลึกลงไปกว่า 33 เมตรในมหานครลอนดอน และกำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะปลูกใต้มหาสมุทร

ตามโครงการ Nemo’s Garden ของอิตาลีที่ใช้โดมที่ผลิตจากวัสดุอะคริลิกหย่อนลงไปในทะเลลึก 30 เมตรสำหรับปลูกผักและต้องแปลงน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดเพื่อนำมาใช้ในการเพาะปลูก

สำหรับเมืองไทยเราเริ่มเห็นแนวโน้มการทำ smart farm หรือการเพาะปลูกในโรงเรือนมาสักระยะหนึ่ง แต่ยังไม่แพร่หลายจึงท้าทายเกษตรกรไทยที่ยังเป็นผู้ตามด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และการนำมาประยุกต์ใช้จริงในปัจจุบัน

ด้วยมนุษย์ที่อยู่บนโลกแบบ 2 ขั้ว ขั้วหนึ่งตั้งหน้าตั้งตาทำลายสิ่งแวดล้อม อีกขั้วหนึ่งขวนขวายวิธีการทำเกษตรกรรมรูปแบบใหม่ vertical farming ที่อาจตอบโจทย์อนาคต แม้ต้องแลกกับเงินทุนมหาศาล แต่จะสำเร็จเพียงใดคงยากที่จะพยากรณ์

ดังนั้น คำถามสำคัญที่คอยคำตอบคือ “ในภาวะปัจจุบันเราจะอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างไรมิให้ ‘โลกรวน’ ไปมากกว่านี้”