COVID-19 ยังไม่จากไป COP26 (แก้ปัญหาโลกร้อน) ก็เข้ามา

คอลัมน์ Healthy Aging
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ปกติแล้ว ผมจะเขียนเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพของตัวเองให้ดีขึ้น เพื่อการสูงวัยอย่างมีคุณภาพ แต่ครั้งนี้ขอกล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงที่ยังคั่งค้างอยู่จาก COVID-19 และการมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น หลังการประชุม COP26 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป

สำหรับ COVID-19 นั้น ผมขอสรุปเป็นประเด็นสำคัญ ๆ ดังนี้

1.รัฐบาลไทยมีท่าทีที่ชัดเจนมากว่าต้องการเปิดเศรษฐกิจ เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยนั้นล้าหลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างมาก กล่าวคือจีดีพีโลกติดลบ 3.1% ในปี 2020 (แต่จีดีพีไทยติดลบ 6%) และเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างชัดเจนในปีนี้ คือ จีดีพีโลกขยายตัว 5.9% (แต่จีดีพีไทยขยายตัวเพียง 1.2%) ทั้งนี้ จีดีพีโลกคาดว่าจะขยายตัว 4.9% ในปีหน้า แต่จีดีพีไทยในปีหน้าจะขยายตัวได้ประมาณ 3.5-4.5% (การคาดการณ์ของสภาพัฒน์) กล่าวคือความเสี่ยงจาก COVID-19 เป็นเรื่องรอง ในขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจจะเป็นเรื่องหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีความเป็นไปได้มากขึ้นว่าจะต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า

2.ดังนั้นภาระในการดูแลตัวเองไม่ให้รับความเสี่ยงจาก COVID-19 จึงจะต้องเป็นความรับผิดชอบของตัวเราเอง ไม่ใช่การพึ่งพามาตรการและการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยภาครัฐ กล่าวคือเรามีหน้าที่ที่จะรีบฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็ม และหลังจากนั้นอีก 5-6 เดือนก็จะต้องรีบแสวงหาเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

นอกจากนั้นก็จะต้องรู้จักระมัดระวังตัวเองตามที่ได้มีการนำเสนอข้อมูลเพื่อการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง (ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง และล้างมือบ่อย ๆ ฯลฯ) ทั้งนี้ ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวโดยเฉพาะโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ย่อมจะต้องดูแลตัวเองให้ดีเป็นพิเศษ

3.ความเสี่ยงจากการระบาดระลอกใหม่ และการเกิด cluster ใหม่นั้นเห็นได้บ่อยครั้งในอดีต และจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต เห็นได้จากการระบาดที่เพิ่มขึ้นอย่างมากที่สิงคโปร์ และหลายประเทศในยุโรป แม้ว่าประเทศดังกล่าวมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนคิดเป็นสัดส่วนสูงมากแล้ว

เช่น ประชาชนกว่า 82% ที่สิงคโปร์ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว และเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิผลสูง คือ mRNA เป็นหลัก นอกจากนั้น ประชากรสิงคโปร์ 14% ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 3 เข็มแล้ว ในยุโรปนั้นก็ได้ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเกินกว่า 70% ไปแล้ว แต่บางประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย และเยอรมนี ก็ต้องเพิ่มมาตรการควบคุมเพราะเผชิญกับการระบาดที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

ดังนั้น เมื่อคนไทยทั้งประเทศประมาณ 70% ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วครบ 2 เข็ม ก็ไม่ได้หมายความว่าการติดเชื้อใหม่รายวันประมาณ 5,000-6,000 คนจะลดลงไป เพราะยังมีคนไทยเหลืออีก 30% คือกว่า 20 ล้านคน ยังสามารถติดเชื้อ COVID-19 ได้ (และคนที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ก็ยังติดเชื้อ COVID-19 ซ้ำได้อีกด้วย)

4.ความเสี่ยงที่อาจมีการระบาดของ COVID-19 เพิ่มขึ้นในประเทศไทย ที่บางคนอาจไม่นึกถึง คือการระบาดของ COVID-19 จากการนำเข้าแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัฐบาลกำหนดขั้นตอนและอนุมัติการนำเข้าแรงงานที่ถูกกฎหมายอย่างเชื่องช้า ทำให้เกิดการลักลอบนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะประเทศไทยขาดแคลนแรงงานอย่างมาก

กล่าวคือไม่ได้เป็นห่วงว่าขั้นตอนการตรวจสุขภาพของแรงงานต่างด้าวโดยรัฐบาลจะไม่รัดกุม แต่กลัวว่ากระบวนการจะเชื่องช้า และมีต้นทุนสูง อันจะทำให้มีแรงจูงใจนำเข้าแรงงานอย่างผิดกฎหมาย

อีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนคงจะไม่ได้นึกถึง คือการติด COVID-19 ของสัตว์ป่าที่อาจสัมผัสกับมนุษย์ เช่น รายงานข่าวเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน ที่นักวิจัยที่สหรัฐอเมริกาพบว่า กวางหางขาว (white-tailed deer) ที่มลรัฐไอโอวา นั้นมีเชื้อ COVID-19 อยู่ในตัวถึง 80% ของกวางทั้งหมด

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบในช่วงพฤศจิกายน 2020 ถึงมกราคม 2021 อันตรายคือสัตว์ดังกล่าว (และอาจมีสัตว์อื่น ๆ อีกด้วย) กำลังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของโคโรนาไวรัสที่แบ่งตัว และกลายพันธุ์ตลอดเวลา แปลว่าในอีก 7-8 ปี อาจมีการกลายพันธุ์เป็น COVID-30 ที่กระโดดจากสัตว์มาแพร่เชื้อให้มนุษย์ และมีความร้ายแรงกว่า COVID-19 ก็เป็นได้ ดังนั้น ความเสี่ยงจากไวรัสนั้นจะไม่ได้จบลง เมื่อมนุษย์ปราบ COVID-19 ได้สำเร็จ

อีกเรื่องหนึ่งที่จะกระทบกับความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างมาก คือ ภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ผู้นำประเทศและกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้ความสำคัญอย่างมากกับการแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งการประชุมเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนครั้งที่ 26 (COP26) ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปนั้น สามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1.ที่ประชุมยอมรับความสำคัญของเป้าหมายที่จะต้องควบคุมไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเกินกว่า 1.5c จากเมื่อ 150 ปีก่อน ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทำให้โลกร้อนขึ้นไปแล้วประมาณ 1.1-1.2c และหากไม่มีมาตรการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อุณหภูมิของโลกก็จะเพิ่มขึ้นประมาณ 2.4-2.7c ในอีก 80 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรง และเป็นภัยอันตรายกับมนุษย์อย่างมาก

2.การจะควบคุมอุณหภูมิของโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5c ในอีก 80 ปีข้างหน้านั้นเป็นภาระที่หนักหน่วงอย่างมาก และปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดเลยที่มีนโยบายที่ชัดเจน ซึ่งหากปฏิบัติแล้วจะควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มเกินกว่า 1.5c

กล่าวคือเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว (โลกร้อนอีกไม่เกิน 1.5c) จะต้องสามารถลดทอนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไปครึ่งหนึ่งจากระดับปัจจุบัน ภายในปี 2030 และโลก (มนุษย์) จะต้องไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเลย (net zero emission หรือ NZE) ตั้งแต่ปี 2050 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ได้มีการประเมินว่าการนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและการใช้พลังงาน ตลอดจนการทำการเกษตรของมนุษย์ให้นำไปสู่สภาวะ NZE นั้นจะต้องลงทุนประมาณ 125 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 150% ของจีดีพีของโลกในปีนี้ แปลว่าทุกประเทศจะต้องช่วยกันจัดสรรทรัพยากร 5-6% ของจีดีพีทุกปีไปอีกประมาณเกือบ 20 ปี เพื่อลงทุนในการป้องกันไม่ให้โลกร้อนมากขึ้นไปกว่าปัจจุบัน

3.หากไม่ทำแล้วอะไรจะเกิดขึ้น ? ดังที่กล่าวข้างต้น อุณหภูมิโลกคงจะสูงขึ้นประมาณ 2.5c ภายใน 80 ปีข้างหน้า ทำให้ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่เพิ่มขึ้น (เกิดพายุที่รุนแรงมากขึ้น) มนุษย์ สัตว์ และพืชผล ย่อมจะได้รับผลกระทบถึงชีวิตจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น และที่สำคัญ คือระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นอย่างมาก

ประเด็นหลังจากนี้ได้มีการประเมินจากนักวิทยาศาสตร์ว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1880 (140 ปีที่ผ่านมา) ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นไปแล้วประมาณ 21-24 เซนติเมตร โดยพบว่าระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างเร่งตัว คือช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 7-8 เซนติเมตร

ดังนั้น หากยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าเดิม ในอีก 25 ปีข้างหน้าก็เป็นไปได้ที่ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นไปอีก 7-8 เซนติเมตร ซึ่งคนไทยที่มีบ้านอยู่ใกล้แม่น้ำต่าง ๆ คงจะต้องลำบากมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างมาก