ออกจากกับดักเศรษฐกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

ทุกครั้งที่สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอยู่ในช่วงขาลง

เรามักจะเห็นองค์กรต่าง ๆ ประกาศลดค่าใช้จ่ายของบริษัท จนทำให้พนักงานรู้สึกกังวลว่าบริษัทของเราจะอยู่รอดไหมในท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้

ยิ่งเฉพาะกับบริษัทที่ผจญอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่กำลังไหลบ่าเข้ามาทดแทนคน จนทำให้หลายคนเริ่มถามตัวเองว่าหากเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนคนจริง ๆ พวกเขาจะปรับตัวอย่างไรบ้าง

จะต้องหันไปทำงานด้านไหน ?

หรือจะต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างไร ?

สิ่งเหล่านี้กำลังเป็นคำถามที่มนุษย์เงินเดือนของหลายองค์กรที่ได้รับ

ผลกระทบโดยตรงพยายามหาคำตอบ เพราะเขาพอคาดเดาอนาคตได้ว่าหากสภาพเศรษฐกิจเป็นอยู่อย่างนี้ โอกาสจะลืมตาอ้าปากคงยาก

ทั้งการเลือกตั้งในสมัยหน้าก็ไม่รู้ว่าจะเป็นไปตามโรดแมปหรือเปล่า

ดังนั้น ทางเดียวที่จะมีชีวิตอยู่รอดต่อไปคือต้องพยายามหางานพิเศษทำ หรือหางานที่สองที่สามทำ เพราะสมัยนี้แทบจะไม่มีมนุษย์เงินเดือนรุ่นใหม่คนไหนทำงานประจำเพียงแห่งเดียวอีกต่อไปแล้ว

เขาขายของออนไลน์ด้วย

ตกเย็นขับแกร็บแท็กซี่

เสาร์-อาทิตย์เปิดแผงขายตามที่ต่าง ๆ หรือไม่บางคนก็รับจ็อบทำงานอยู่กับบ้าน

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้กำลังเป็นเทรนด์ของมนุษย์เงินเดือนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นใหม่ที่พยายามหนีออกจากกรอบการทำงานแบบเดิม ๆ เพราะเขาอยากทำงานอิสระ เป็นเจ้านายตัวเอง และขอเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และชอบก่อน

เพราะจะทำให้เขามีรายได้เพิ่ม

แต่กระนั้น คนที่จะทำเช่นนี้ได้ จะต้องมีฝีมือ มีพรรคพวกเพื่อนฝูงอยู่พอสมควร สำคัญไปกว่านั้น เขาจะต้องได้รับการยอมรับ และถูกบอกต่อในวงกว้างด้วย ถึงจะทำให้มีงานป้อนอยู่ประจำ

ผมเคยคุยกับน้องผู้หญิงเด็กถา’ปัดคู่หนึ่ง เธอทั้งสองคนเป็นเพื่อนกันตั้งแต่สมัยเรียนมหา’ลัย อยู่หอก็อยู่ด้วยกัน แต่เมื่อเรียนจบเธอสองคนแยกย้ายไปทำงานในบริษัทสถาปนิกคนละแห่ง

แต่ยังติดต่อเจอะเจอกันอยู่เสมอ

จนวันหนึ่งเธอทั้งสองคนคุยกันว่า…เรามาทำธุรกิจเล่น ๆ กันเถอะ

เพื่อนคนหนึ่งถามว่า…จะทำอะไรดี ?

นาฬิกา…เพื่อนอีกคนหนึ่งตอบ

เพื่อนคนนั้นไม่ถามสักคำ เพราะรู้ดีอยู่แล้วว่าเธอทั้งคู่เป็นคนชอบนาฬิกาทั้งคู่ เขาจึงใช้ความเป็นสถาปนิก ออกแบบนาฬิกาในแบบฉบับที่เธอชอบ และในแบบฉบับที่วัยรุ่นในยุคปัจจุบันน่าจะชอบด้วย

ออกแบบเสร็จ เธอเสิร์ชหาข้อมูลว่ามีซัพพลายเออร์เจ้าไหนที่จะผลิตนาฬิกาอย่างที่เธอออกแบบได้บ้าง ที่สุดเธอจึงไปเจอซัพพลายเออร์แห่งหนึ่งในประเทศจีน เขาทั้งคู่บินไปเจรจา พูดคุยด้วยภาษาธุรกิจ จนที่สุด จึงสร้างแบรนด์นาฬิกายี่ห้อหนึ่งออกมา

พร้อมกับโปรโมตผ่านเฟซบุ๊ก

เพียงไม่กี่เดือนนาฬิกายี่ห้อนี้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพราะนาฬิกาของเธอไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน แถมยังตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ชอบสวมใส่นาฬิกาทันสมัย ราคาไม่แพงมาก แต่ทำให้ผู้สวมใส่ดูดีมีรสนิยม

เธอทั้งคู่บอกผมว่ามีรายได้ต่อเดือนจากการขายนาฬิกาออนไลน์ประมาณ 4-5 หมื่นบาท และมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อย ๆ

และตอนนี้เธอเริ่มคิดว่างานประจำที่ต้องออกแบบคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม และอื่น ๆ เริ่มจะเป็นงานรองไปเสียแล้ว

เธอเริ่มมีความคิดที่จะออกมาทำธุรกิจนาฬิกาอย่างเป็นจริงเป็นจัง

เพราะตอนหลังเริ่มมีพาร์ตเนอร์จากที่ต่าง ๆ มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ และมองเห็นสไตล์การออกแบบนาฬิกาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงทำให้พวกเขาสนใจที่อยากจะชวนเธอทั้งคู่มาเป็นหุ้นส่วน

ตอนที่คุยกัน พวกเธอยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจหรือไม่ แต่กระนั้น ก็ทำให้เราเห็นว่าไม่ว่าสภาพธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร เศรษฐกิจโดยรวมจะดีหรือไม่

และเทคโนโลยีจะมาแทนคนเมื่อไหร่นั้นหากเรามีไอเดีย มีความคิดสร้างสรรค์ มีฝีมือ และมีโชค โอกาสก็อาจจะแวะเวียนมาหาเราโดยไม่ยาก เพราะโลกทุกวันนี้อยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์ จังหวะ และโอกาส

ดังนั้น เมื่อสิ่งเหล่านี้มาถึงมือเมื่อไหร่ จงรีบคว้าไว้ทันทีอย่าปล่อยโอกาสให้หลุดมือ

แล้วคุณจะไม่สนใจเลยว่าแม้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะเป็นเช่นไร บริษัทต่าง ๆ จะต้องปรับตัวกับสภาวการณ์อย่างนี้ต่อไปอย่างไรบ้าง คุณก็จะอยู่รอดปลอดภัยจากสิ่งที่คุณมีต้นทุนอยู่ในตัวเอง

แต่กระนั้น ต้องสำรวจตัวเองให้ถ่องแท้เสียก่อนว่าคุณมีฝีมือด้านใดบ้าง ก็จงสำแดงพลังฝีมือนั้นออกมาอย่างเต็มที่ แล้วคุณก็จะหลุดจาก

กับดักทางเศรษฐกิจตกต่ำ

จนสามารถยืนด้วยขาของตัวเองอย่างสง่างาม ?