“เปิดประเทศ” ล้มเหลว! นักท่องเที่ยวหลุดเป้า

เดินทาง
คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ

ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า
[email protected]

นับว่า “ล้มเหลว” และ “พลาดเป้า” ในทุกด้าน สำหรับแผนการเปิดประเทศของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะ “กรุงเทพฯ” ที่เริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา

ขณะที่ “ธนกร วังบุญคงชนะ” โฆษกรัฐบาล มั่นหน้าออกแถลงการณ์ยืนยันว่าแผนเปิดประเทศเป็นไปตามเป้าและน่าพอใจมาก พร้อมระบุว่ามีผู้ยื่นขอเข้าประเทศผ่าน Thailand Pass ทะลุแสนคนตั้งแต่ไม่กี่วันที่เปิดให้ลงทะเบียน และมีเข้ามาในช่วง 15 วันแรกถึงกว่า 5.4 หมื่นคน

เช่นเดียวกับ “ยุทธศักดิ์ ศุภสร” ผู้ว่าฯ ททท. ที่คาดว่า ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายนี้ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเฉลี่ยเดือนละ 3 แสนคน

เรียกว่า “มั่นใจ” จนไม่สนคำทักท้วงในทุกปัญหา ไม่ว่าจะเป็นระบบการลงทะเบียนของ Thailand Pass ที่มีข้อจำกัดมากมาย หรือระบบตรวจเอกสาร เช่น บัตรวัคซีน ใบตรวจโรคโควิด (RT-PCR) ฯลฯ ของกรมควบคุมโรคติดต่อที่ยังใช้ระบบแมนวล (ตรวจด้วยมือ)

รวมถึงปัญหาเรื่องไม่มีระบบ vaccine validate (ตรวจสอบวัคซีน) ซึ่งเป็น “หัวใจ” หลักของการเปิดประเทศแบบปลอดภัย

หรือประเด็นที่ไม่สามารถติดตามตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการติดตามผลการตรวจ ATK ในวันที่ 6-7 ได้

เรียกว่า มีปัญหาในแทบทุกกระบวนการดำเนินงาน

แม้ว่าที่ผ่านมา “บิ๊กตู่-ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่รับรู้ถึงปัญหาจะออกโรงสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ไข เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น

แต่ดูเหมือนว่า ยิ่งนานวัน ปัญหายิ่งหนักขึ้น

เช่น Thailand Pass แก้ไขปัญหาความล่าช้าด้วยการไม่ตรวจเอกสาร เอกสารไม่ครบก็ออก QR code ให้ ขณะที่ด่านโรคติดต่อก็ยังคงใช้วิธีตรวจเอกสารด้วยมือต่อไป

ไม่เพียงเท่านี้ ในฟากของโรงแรมก็ประสบปัญหาจาก Thailand Pass เช่นกัน โดยจากคำบอกเล่าของผู้บริหารโรงแรมหลายแห่งได้ข้อมูลในทิศทางเดียวกันว่า พบนักท่องเที่ยวจำนวนมากจองโรงแรมผ่าน agoda ไม่ได้จองการตรวจ RT-PCR พ่วงกับโรงแรมตามเงื่อนไข แต่ Thailand Pass อนุมัติ QR code ให้

บางกรณีหนักกว่าคือ นอกจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ที่จะผ่านระบบการกลั่นกรองของ Thailand Pass ยังมีอีกจำนวนมากที่ผ่านจุดลงทะเบียน health care registration system ปัญหาของกลุ่มนี้คือไม่มีรถรับเข้าโรงแรม ตกค้างอยู่ที่สนามบินจำนวนมาก

ทั้งนี้ จากรายงานของ ททท. พบว่า 24 วันแรกของการเปิดเมือง (1-24 พฤศจิกายน 2564) มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯสะสมอยู่ที่ 68,658 คน จากเป้า3 แสนคน

สรุปแล้ว ระบบที่ใช้อยู่ในขณะนี้ นอกจากจะไม่มีระบบการตรวจสอบแล้ว ก็ยังไม่เอื้อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้สะดวกขึ้นด้วย

จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ ททท.พยายามนำเสนอปรับลดเงื่อนไขมาโดยตลอด นับตั้งแต่ขอลดวันกักตัว รวมถึงผลักดันให้ยกเลิกการตรวจ RT-PCR แล้วใช้ตรวจ ATK แทน และอีกหลายต่อหลายประเด็น

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ผู้เขียนเองอยากให้รัฐบาลทบทวนสักนิดว่า “ปัญหา” ที่แท้จริงอยู่ตรงไหน เพื่อที่จะได้แก้ไขก่อนที่ปัญหาใหม่จะเข้ามาถมจนเอาไม่อยู่ และต้องกลับไปปิดประเทศอีกครั้งเหมือนกับหลายประเทศในยุโรปที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้

ซึ่งจากการประชุม ศบค. ล่าสุด (26 พฤศจิกายน 2564) ที่ผ่านมานั้น ได้พิจารณาเห็นชอบยกเลิกการตรวจ RT-PCR และให้ตรวจ ATK แทนตั้งแต่ 16 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป

ถามว่าแนวทางนี้เป็นผลดีหรือไม่ ตอบเลยว่าเป็น “ปัจจัยบวก” แน่นอน เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยว

แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือ กระแสการแพร่ระบาดในหลายประเทศ โดยเฉพาะในโซนยุโรปเริ่มกลับมาอีกครั้งแล้ว

ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องตระหนักและใช้มาตรการนี้ควบคู่ไปกับระบบที่ดี สามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะระบบ vaccine validate หรือตรวจสอบวัคซีน ซึ่งเป็น “หัวใจ” ของการเปิดประเทศแบบปลอดภัย

อะไรที่ยังไม่ “ปลอดภัย” ทำให้ประเทศเกิด “ความเสี่ยง” ก็ควรต้องปรับ ไม่ต้องกลัวเสียหน้า