เมื่อ ธปท.ออกโรง เบรกกระแสคริปโท

สามัญสำนึก
สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ขณะที่กระแสเรื่อง “สินทรัพย์ดิจิทัล” อย่างคริปโทเคอร์เรนซี กำลังร้อนแรงเป็นที่สนใจเข้าไปซื้อขายของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในเมืองไทย

โดยช่วงปีที่ผ่านมา พบว่าการเปิดบัญชีซื้อขายคริปโทเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2564 มีผู้เปิดบัญชีซื้อขายอยู่ที่ 1.64 ล้านบัญชี

และมูลค่าการซื้อขายหลายหมื่นล้าน หรือเกือบ ๆ แสนล้านบาทต่อสัปดาห์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากนักลงทุนรายย่อยในประเทศ

ขณะที่บรรดาแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโท นอกจากให้บริการซื้อขายแล้ว ตอนนี้เร่งจับมือพันธมิตรในโลกความเป็นจริง ทุกวงการตั้งแต่อสังหาฯอย่าง อนันดาฯ, ออริจิ้นฯ, สยามพิวรรธน์ ไปจนถึง รพ.กรุงเทพ รพ.เกษมราษฎร์ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร้านกาแฟอินทนิล เดอะมอลล์ กรุ๊ป และอีกมากที่ประกาศรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยคริปโท

เป็นภาพการสร้างอีโคซิสเต็มของคริปโทให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น โดยธุรกิจต่าง ๆ แห่รับชำระด้วยคริปโทสกุลต่าง ๆ เป็นอีกช่องทางการตลาด สร้างแบรนด์ไม่ให้ตกรถไฟขบวนแห่งอนาคต แม้ในโลกแห่งความเป็นจริง การนำคริปโทมาชำระค่าสินค้าหรือบริการ ผู้ประกอบการก็ยอมรับว่ายังมีน้อยมาก

โดยเฉพาะ “บิทคับ” เว็บเทรดที่ได้รับความนิยมสูงสุดของไทย ที่ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความสนใจ หลังที่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อ 2 พ.ย.ว่า บล.ไทยพาณิชย์ บริษัทย่อยจะเข้าทำสัญญาซื้อหุ้นบริษัท บิทคับ ออนไลน์ 51% มูลค่าประมาณ 17,850 ล้านบาท

แม้ดีลนี้ยังไม่เกิดขึ้น ยังมีขั้นตอนดิวดิลิเจนซ์ และการตรวจสอบอีกมาก แต่ก็สร้างการยอมรับและความเชื่อมั่นให้กับบิทคับเพิ่มขึ้น รวมถึงความสนใจให้วงการคริปโท

สะท้อนจากราคาเหรียญ KUB ของบิทคับ จากวันที่ 1 พ.ย. ราคา KUB ปิดที่ 32.84 บาท และทันทีที่มีข่าว SCB จะเข้าซื้อ Bitkub ราคา KUB ก็พุ่งปิดที่ 77.28 บาท เพิ่มขึ้น 135% ทันที พร้อม ๆ กับธุรกรรมการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

หลังจากนั้น ราคาก็พุ่งขึ้นต่อเนื่อง แตะระดับ 500 บาท (30 พ.ย.) หลังมีข่าวบิทคับ X กลุ่มเดอะมอลล์ ตั้ง “บิทคับ เอ็ม” แต่ไม่นานราคาก็ดิ่งลงอย่างหนัก กลายเป็นประเด็นและตั้งคำถามเรื่องปั่นราคา และการกำกับดูแลของ ก.ล.ต.

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความเคลื่อนไหว เมื่อ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดย นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ประกาศว่า “ธปท.ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ”

ด้วยเหตุผลว่า ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูง ทั้งยังเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน จะส่งผลต่อผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงผู้ใช้บริการให้ได้รับความเสียหาย และหากนำไปใช้ในวงกว้างอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน และระบบการเงินของประเทศ

ทั้งยืนยันว่า มุมมองของ ธปท.เป็นแนวทางเดียวกับผู้กำกับดูแลในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ขณะที่บางประเทศก็ “จำกัด” การใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อ “การลงทุน” เท่านั้น

พร้อมย้ำว่า ธปท.อยู่ระหว่างหารือกับ ก.ล.ต. หารูปแบบการกำกับดูแลการให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล

ประกาศดังกล่าวเป็นการเบรกกระแส และเตือนว่า หลังจากนี้จะมีการกำกับดูแลเข้มงวด เพราะตอนนี้หลาย ๆ เรื่องยังไม่มีกฎกติกา ธปท. และ ก.ล.ต. จึงต้องเร่งทำการบ้านวิ่งไล่ตามการเปลี่ยนแปลงของโลกใหม่

สิ่งสำคัญคือ เมื่อโลกกำลังไปทางนี้ แบงก์ชาติและ ก.ล.ต.คงไม่สามารถปิดกั้นได้ เพียงแต่จะวางแนวทางกำกับอย่างไร เพื่อสร้างสมดุลนวัตกรรมการเงินกับเรื่องความเสี่ยง ความปลอดภัย และเสถียรภาพระบบการเงิน