ผันเงินท้องถิ่นต้องถึงมือชุมชน

บทบรรณาธิการ

การนำเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ 1.5 แสนล้านบาท จากทั้งหมด 3 แสนล้านบาท เป็นนโยบายที่รัฐบาลกำลังเร่งขับเคลื่อนให้เห็นผลภายใน 4 เดือนจากนี้ไป เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และคนในระดับรากหญ้า มีอาชีพ มีรายได้พอจะลืมตาอ้าปาก ปลุกเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นที่ยังซบเซาให้กระเตื้อง

ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อ 27 พ.ย. 2560 เห็นชอบให้ อปท.นำเงินสะสมไปใช้จ่ายตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ ได้แก่ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ถนน ระบบระบายน้ำ สวนสาธารณะ สนามกีฬา แหล่งน้ำ ตลาดท้องถิ่น การจัดการขยะมูลฝอย สนับสนุนการท่องเที่ยว ฯลฯ

โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กับกระทรวงการคลัง หาทางปลดล็อกระเบียบ กฎหมาย ที่ยังเป็นอุปสรรค ส่งผลให้การเบิกจ่ายเงินสะสมนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่นไม่คล่องตัวและมีข้อจำกัด

อย่างปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา ยอดเบิกจ่ายเงินสะสมที่หน่วยงานท้องถิ่นใช้พัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานตามนโยบายรัฐทำได้แค่ไม่กี่พันล้านบาท ไม่มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ละพื้นที่เท่าใดนัก

การประกาศปลดล็อกหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการใช้จ่ายเงินดังกล่าว โดยเปิดกว้างให้ อปท.ดำเนินการได้สะดวกคล่องตัวขึ้น ด้วยการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่บังคับใช้ในปัจจุบันจึงถือว่าเดินมาถูกทาง และน่าจะช่วยให้การปลุกเศรษฐกิจฐานรากเป็นไปตามที่คาดหวัง

ที่สำคัญ จะทำอย่างไรให้เม็ดเงิน 1.5 แสนล้านบาท กระจายถึงมือชาวบ้านเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ตกหล่นรั่วไหลรายทาง หรือเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น ทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์

ขณะเดียวกัน มีวิธีการใดทำให้แต่ละโครงการที่จะลงทุนคุ้มค่า ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพ รายได้ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งผลด้านบวกต่อการพัฒนาความเจริญในท้องถิ่น พัฒนาการท่องเที่ยว สร้างอนาคตใหม่ให้คนในชุมชนได้ตรงเป้าหมาย

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทีมเศรษฐกิจรัฐบาล และหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนผลักดันนโยบาย อย่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานผู้ปฏิบัติต้องตระหนักและให้ความสำคัญ


โดยเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ตั้งแต่ริเริ่มแผนงาน โครงการ การคัดเลือกโครงการ โดยพิจารณาประโยชน์และผลตอบแทนทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม จนถึงขั้นตอนการประเมินผล ฯลฯ เหนือสิ่งอื่นใดคือต้องให้ทุกฝ่ายตรวจสอบได้ เพื่อความสุจริต โปร่งใส เศรษฐกิจฐานราก ชุมชนท้องถิ่น จึงจะได้ประโยชน์คุ้มค่าเงินที่ทุ่มลงไป