ดัน “อุทยานนกน้ำทะเลน้อย’”ขึ้นมรดกทางการเกษตรโลก

อุทยานนกน้ำทะเลน้อย
คอลัมน์ นอกรอบ

สำนักงานการเกษตรต่างประเทศ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

“ทะเลน้อย” “พื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย” หรือ “อุทยานนกน้ำทะเลน้อย” สถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อในจังหวัดพัทลุง ซึ่งเชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลา ผ่านทางคลองนางเรียม ซึ่งได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตั้งแต่ปี 2518 ถือเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีเนื้อที่ประมาณ 285, 625 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบริมทะเลสาบ ประกอบด้วยนาข้าว ป่าพรุ และทุ่งหญ้า รวมกันประมาณ 94% ส่วนที่เหลืออีก 6% เป็นแอ่งน้ำ กำลังได้รับการผลักดันขึ้นเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร

โดยวันที่ 8 ธันวาคม 2564 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง เพื่อขอรับรองเป็นพื้นที่มรดกทางการเกษตรโลก (Globally Important Agricultural Heritage System หรือ GIAHS) ภายหลังจากนำคณะลงพื้นที่จังหวัดพัทลุง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา

โดยมี นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) และผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ FAO/IFAD/WFP พร้อมด้วย ที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ประจำกรุงโรม นายณฤทธิ์ บุญชัย เกษตรและสหกรณ์จังหวัดพัทลุง ดร.เชิดศักดิ์ เกื้อรักษ์ ที่ปรึกษา EU ประจำประเทศไทย และเลขาธิการมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย นางสาวนวรัตน์ เฉลิมเผ่า ผู้ช่วยผู้แทนเอฟเอโอประจำประเทศไทย (ฝ่ายโครงการ) สำนักงานเอฟเอโอประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

นายกฤษณ์ หาญสวัสดิ์ หัวหน้ากลุ่มความร่วมมือกับต่างประเทศ 1 สำนักการเกษตรต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความคืบหน้าการขอรับรองระบบการเลี้ยงควายปลักในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง เป็นพื้นที่มรดกทางการเกษตรโลก (GIAHS)

ในการประชุม นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) และผู้แทนถาวรไทย ประจำ FAO/IFAD/WFP ได้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการขอรับรองระบบการเลี้ยงควายปลักในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย เป็นมรดกทางการเกษตรโลก โดยแจ้งว่า ฝ่ายเลขานุการ GIAHS อยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของข้อเสนอของไทย โดยจะจัดส่งข้อมูลต่อคณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ (SAG) ชุดใหม่ของ GIAHS ซึ่งจะมีการแต่งตั้งแล้วเสร็จในปี 2564

ดังนั้น เพื่อให้การจัดการและประสานงานข้อมูลทางวิชาการที่จำเป็น สำหรับเอกสารข้อเสนอ และการชี้แจงข้อมูลต่อคณะกรรมการ GIAHS เป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็ว เพื่อให้ได้รับการรับรองเป็นมรดกทางการเกษตรโลกโดยเร็วที่สุด

ที่ประชุมจึงมีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อติดตามและปรับปรุงเอกสารข้อเสนอระบบการเลี้ยงควายปลักในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย โดยมีอำนาจหน้าที่ติดตาม ปรับปรุงเอกสารข้อเสนอระบบการเลี้ยงควายปลักในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย และจัดหาข้อมูลและสารสนเทศเพิ่มเติม ตามที่คณะกรรมการตรวจประเมินของฝ่ายเลขาฯ GIAHS กำหนด เพื่อให้ได้รับการรับรองเป็นพื้นที่ระบบมรดกทางการเกษตรโลก

ในการนี้ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯได้สั่งการให้พื้นที่จัดเตรียมแผนงาน โครงการ และงบประมาณ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรับรองเป็นพื้นที่มรดกทางการเกษตรโลก โดยขอให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพัทลุง และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง พิจารณาจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อรองรับการดำเนินงานดังกล่าว โดยเน้นการมีส่วนร่วมในพื้นที่ และให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้ในประเด็นผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ หลังจากพื้นที่ได้รับการรับรอง

ทั้งนี้ ในด้านการท่องเที่ยว เลขาธิการมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยได้รายงานว่า พื้นที่ที่ประเทศไทยเสนอขอรับการรับรองเป็นมรดกทางการเกษตรโลก เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ขณะที่สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม แจ้งว่า ฝ่ายเลขานุการ GIAHS อยู่ระหว่างจัดทำข้อเสนอโครงการฝึกอบรม National Webinar on GIAHS สำหรับประเทศไทย คาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นปี 2565 เพื่อสร้างการรับรู้ในเรื่องมรดกทางการเกษตรโลก และเตรียมความพร้อมขอรับการรับรองในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย