ยอดจองรถในงาน มอเตอร์เอ็กซ์โป บอกอะไร ?

รถอีวี
ชั้น 5 ประชาชาติ

อมร พวงงาม

 

รูดม่านเก็บฉากกันไปเรียบร้อย สำหรับงาน “มอเตอร์เอ็กซ์โป 2021” ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 2-12 ธันวาคมที่ผ่านมา

กวาดยอดจองรถยนต์ไปได้ถึง 31,583 คัน มอเตอร์ไซค์อีกกว่า 3 พันคัน

สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้เล็กน้อย หน้าบานกันไปทั้งผู้จัดงานและค่ายรถยนต์

เรียกว่า “โควิด” ไม่สะเทือนยอดขายกันเลยทีเดียว

“ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์” ประธานจัดงาน บอกว่า งานนี้งานเดียวพลิกเศรษฐกิจในประเทศให้ลืมตาอ้าปาก

มีเงินสะพัดมากถึง 4.3 หมื่นล้านบาท โดยคำนวณค่าเฉลี่ยของราคารถ 1 คัน ตกราว ๆ 1.3 ล้านบาท

มีผู้คนเข้าชมงาน 1.15 ล้านคน นี่ยังไม่รวมผู้ชมงานผ่านแพลตฟอร์ม MOTOR EXPO ONLINE อีก 1.4 แสนคน

มีการเปิดดูคลิปต่าง ๆ ในงานสูงถึง 1.8 ล้านคลิป

5 อันดับแบรนด์รถยนต์ที่ขายรถได้มาก เริ่มจากโตโยต้า 5.7 พันคัน, ฮอนด้า 4.1 พันคัน, อีซูซุ 3.3 พันคัน, มาสด้าประมาณ 3 พันคัน ตามมาด้วย เอ็มจี 2.3 พันคัน

ข้อมูลทั้งหมดสามารถใช้เป็น “บิ๊กดาต้า” เอาไปประกอบแนวทางการทำตลาดได้เป็นอย่างดี

ส่วนรถยนต์ประเภทไหนคนนิยมซื้อมากที่สุด ผู้จัดไม่ได้แจ้ง

แต่ถ้าอยากรู้…เราไปควานหารายละเอียดกันครับ

ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป นอกจากค่ายรถยนต์จะมีโปรฯเด็ด ๆ ให้กับคนซื้อรถแล้ว

ตัวผู้จัดอีเวนต์ก็มีโปรฯแถมให้ด้วย เรียกว่าถ้าตัดสินใจซื้อรถในงานก็มีสิทธิชิงรางวัลเป็นรถยนต์อีก 1 คัน

เที่ยวนี้เป็น “ฮุนได ไอออนนิก” ราคาประมาณ 1.75 ล้านบาท

แคมเปญ “ซื้อรถ…ชิงรถ” แต่ละบูทจะมีคูปองให้ลูกค้ากรอกรายละเอียด รวมถึงระบุด้วยว่า ซื้อรถรุ่นใด แบบใด…ราคาเท่าไหร่

หลังจากนั้นก็นำคูปองไปหย่อนในกล่องชิงรางวัล

ข้อมูลตรงนี้แหละครับ มีทุกอย่างครบ

โดยในงานครั้งนี้ปรากฏว่า กลุ่มรถเอสยูวีได้รับความสนใจสูงสุด มีสัดส่วนเกือบ 50%

รองลงมาเป็นรถเก๋ง สัดส่วน 35% กระบะ 10% ที่เหลือเป็นอื่น ๆ ราว 5%

ที่น่าสนใจคือจำนวน 3 หมื่นกว่าคันที่เป็นยอดจองในงาน ปรากฏว่า 25% หรือเกือบหมื่นคัน เป็นรถยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อน หรือร่วมขับเคลื่อน แบ่งเป็นกลุ่มรถไฮบริด 70% กลุ่มรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด 17% และรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี 13%

ชุดข้อมูลนี้สะท้อนเทรนด์การใช้รถได้ชัดเจนว่า ผู้บริโภคต้องการรถยนต์ที่ให้อรรถประโยชน์การใช้งาน สามารถใช้ได้ทั้งในเมืองและพักผ่อนช่วงวันหยุดยาว

กลุ่มรถเอสยูวีจึงได้รับความสนใจสูง ส่วนการเลือกซื้อรถที่มีมอเตอร์ไฟฟ้าร่วมอยู่ด้วย

นอกจากต้องการก้าวตามเทคโนโลยีโลกยานยนต์แล้ว คนส่วนใหญ่ยังเลือก “ประหยัดและรักษ์โลก”

กรณีรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100% หรืออีวี ก็ถือเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

แม้จะมีการถกเถียงกันเยอะว่า “อีวี” ในบ้านเราคงเกิดยาก

ด้วยข้อจำกัดโครงสร้างพื้นฐานยังรองรับไม่เพียงพอโดยเฉพาะสถานีชาร์จ

และค่ายรถเองยังพัฒนาแบตเตอรี่ได้ไม่ดีพอ (ชาร์จ 1 ครั้งยังให้ระยะทางการวิ่งที่น้อยไป)

รวมถึงรัฐบาลก็ยึกยักต่อการสนับสนุนให้ใช้รถอีวี ไม่เหมือนประเทศต่าง ๆ ในโซนยุโรป

แต่ยอดขาย “อีวี” เที่ยวนี้กลับบอกให้รู้ว่า ผู้บริโภคพร้อมเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่มอเตอร์ไฟฟ้าแล้ว

นี่ขนาดรัฐบาลเตรียมของขวัญปีใหม่ให้คนใช้อีวี ซึ่งมีกระแสออกมาตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ว่าจะคืนภาษีเป็นเงินเหมือนโครงการรถคันแรก

และมีแนวโน้มว่าจะสูงถึง 20% ของราคารถ แต่ก็มีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยเลือกไม่รอ

ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยานยนต์ หรือกระบวนการซัพพลายเชนทั้งหลาย โดยเฉพาะค่ายญี่ปุ่น

พึงตระหนัก อย่าคิดว่า “อีวี” ยังอีกนาน ช่วงนี้ขอขายของเก่าไปพลาง ๆ ก่อน แล้วค่อยปรับตัว

ผู้บริโภคเขาไม่รอนะครับ