โรคระบาดใหม่ นิปาห์ ในฟาร์มหมู

Photo by AFP
สามัญสำนึก
ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ที่เชื่อกันว่าจะเป็นสายพันธุ์หลักของโลกไม่เกินไตรมาสแรกของปี 2565 ท่ามกลางความเชื่อที่ว่า โควิดสายพันธุ์นี้จะมีอาการป่วยรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ “เดลต้า” ที่ครองโลกในการระบาดรอบที่ผ่านมา

พลันผู้คนในโลกต้องตกใจกันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสื่อต่างประเทศเผยแพร่ข่าวที่ประเทศอินเดียตรวจเจอการแพร่ระบาดของไวรัส “นิปาห์ หรือ Nipah” หรือโรคสมองอักเสบนิปาห์ เริ่มต้นจากเด็กชายวัย 12 ปีที่อาศัยอยู่ในรัฐเกรละ ทางตอนใต้ของอินเดียป่วยและเสียชีวิตลงในต้นเดือนกันยายน ปรากฏว่าเด็กอินเดียคนนี้ไม่ได้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่เป็นเชื้อไวรัสนิปาห์

การปรากฏขึ้นของไวรัสนิปาห์ได้สร้างความตระหนกให้กับระบบสาธารณสุขของอินเดียทันที เป็นความตระหนกหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 “เดลต้า” ที่เพิ่งผ่อนคลายจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลง ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่างเร่งควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสนิปาห์อย่างเร่งด่วน

พร้อมกับเริ่มต้นสอบสวนโรคจากผู้สัมผัสใกล้ชิด โดยพบผู้ติดเชื้อที่มีอาการป่วยในพื้นที่อย่างน้อยอีก 11 คน อีก 100 คนยังไม่มีอาการ และอีกประมาณ 20 คนซึ่งเป็นคนในครอบครัวของเด็กเป็นผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงสูงสุด

ทั้งนี้ จากรายงานทางการแพทย์ยืนยันโรคสมองอักเสบนิปาห์พบเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 หรือเมื่อ 22 ปีที่แล้ว มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในตระกูล (family) : Paramyxovirus และ subfamily : paramyxovirinae มีระยะฟักตัวนาน 4-45 วัน

โดยเชื้อไวรัสได้ก่อให้เกิดโรคทั้งในคนและในสัตว์ ผู้ติดเชื้อจะมีอาการติดเชื้ออย่างรุนแรงของระบบหายใจ สมองอักเสบ และเสียชีวิตในที่สุด มีการระบาดของโรคนี้เกิดขึ้นในสิงคโปร์ บังกลาเทศ อินเดีย และมาเลเซีย

สัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสนิปาห์ซึ่งจะเป็นพาหะนำมาสู่คนได้ดีที่สุดก็คือ “หมู” โดยเชื่อกันว่าหมูติดมาจากค้างคาวกินผลไม้ ซึ่งตามธรรมชาติสามารถพบเชื้อไวรัสนิปาห์แบบไม่แสดงอาการในตัวค้างคาวได้ โดยหมูจะติดเชื้อไวรัสนิปาห์ได้จากสิ่งของหรือวัตถุที่ปนเปื้อน ปัสสาวะ อุจจาระ หรือน้ำลายของค้างคาวที่เป็นพาหะหรืออาจติดจากหมูตัวอื่นด้วยการหายใจเอาเชื้อนิปาห์เข้าไป

ในขณะที่คนหรือสัตว์ชนิดอื่น ๆ จะรับเอาเชื้อนิปาห์จากการสัมผัสหมูหรือสิ่งปนเปื้อนอีกต่อหนึ่ง

อาการของโรคสมองอักเสบนิปาห์ในคนที่ติดเชื้อจากการสัมผัสหมูที่ติดโรค อาจจะมีอาการหรือไม่มีอาการก็ได้ โดยอาการในระยะแรกคล้ายกับเป็นไข้หวัดใหญ่ กล่าวคือ มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว และจะมีอาการทางประสาทตามมา เช่น เวียนหัว และเดินโซเซ

ความน่ากลัวของโรคไข้สมองอักเสบนิปาห์ที่เหนือกว่าโควิด-19 โอไมครอน ก็คือ ผู้ติดเชื้อมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 70% และขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือยาที่จะใช้รักษาและป้องกันโรคนี้

จากเหตุการณ์ระบาดในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกับประเทศไทยในระหว่างเดือนกันยายน พ.ศ. 2541 ถึงเดือนมิถุนายน 2542 ในเขตอีโปห์และเนกรีเซมบีลัม

เริ่มต้นในฟาร์มเลี้ยงหมูและแพร่ระบาดติดต่อมายังคน ทําให้มีผู้ป่วย 257 ราย เสียชีวิต 105 ราย หรือคิดเป็นอัตราสูงถึง 41% และโรคยังแพร่ระบาดไปยังประเทศสิงคโปร์ มีผู้ป่วย 11 ราย และเสียชีวิต 1 ราย

นอกจากนี้ ยังพบสุนัขและแมวสามารถติดโรคได้ด้วย โดยรัฐบาลมาเลเซียในขณะนั้นต้องสั่งฆ่าหมูไปถึง 1.2 ล้านตัว หรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของปริมาณหมูทั้งประเทศเพื่อสกัดการแพร่ระบาด สั่งปิดฟาร์มหมูอย่างถาวรไปถึง 1,006 แห่ง จากจํานวนฟาร์มทั้งหมด 1,786 แห่ง

และไม่อนุญาตให้ทำฟาร์มเลี้ยงหมูอีกเลยใน 2 เขตที่เกิดการระบาด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นประมาณ 5,400 ล้านบาท ไม่รวมความสูญเสียจากการเสียชีวิต


ดังนั้น การเกิดโรคสมองอักเสบนิปาห์ในอินเดียที่ระบบสาธารณสุขยังบอบช้ำ ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ จึงกลายเป็นความน่ากังวลของผู้คนในโลกอีกครั้งหนึ่ง