คิดและทำ สไตล์ญี่ปุ่น

คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
เขียนโดย : สาโรจน์ มณีรัตน์

เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าประเทศญี่ปุ่นมีความโดดเด่นในเรื่องของนวัตกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะนวัตกรรมทางด้านยานยนต์ ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล

แต่ลึกลงไปในความโดดเด่นดังกล่าว ต้องยอมรับว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นจากกระบวนการคิดทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการคิดที่ผ่านการพูดคุย ถกเถียง กลั่นกรอง จนกลายเป็นความคิดเชิงรูปธรรม ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

เพราะตั้งแต่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้นำ และประชาชนในประเทศ ต่างได้รับความเจ็บปวดจากผลของสงคราม หลายแสนคนต้องจบชีวิตลงอย่างโศกนาฏกรรมในเมืองฮิโรชิมา และนางาซากิ หลายหมื่นคนต้องฝังร่างที่ไร้วิญญาณตามประเทศต่าง ๆ

แต่กระนั้น ผู้นำ และประชาชนสมัยนั้นกลับไม่ยอมแพ้ พร้อมลุกขึ้นสู้เพื่อกอบกู้ประเทศชาติของตน เพื่อต้องการให้แสงของอาทิตย์อุทัยกลับมาฉายแสงเจิดจรัสอีกครั้งหนึ่ง และนำพาประเทศไปสู่อุตสาหกรรม ใหม่ พร้อมกับพัฒนาประเทศทุกด้าน เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

กล่าวกันว่า เบื้องหลังของการพัฒนาประเทศ เกิดขึ้นจากหน่วยงานหนึ่งที่มีชื่อว่า Asian Productivity Organization-APO ซึ่งมีกลุ่มในประเทศอาเซียนเป็นสมาชิก หน่วยงานหลักตั้งอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิกเหล่านั้นด้วย

ฉะนั้น บทบาทของ APO จึงไม่เป็นเพียงหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพทุกด้านของประเทศสมาชิก หาก APO ยังถือเป็นหน่วยงานหลักที่ทำงานคู่ขนานไปกับรัฐบาลเพื่อพัฒนาประเทศในทุกมิติ

นวัตกรรมทางด้านยานยนต์ของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่นก็ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานนี้ โดยเฉพาะเรื่ององค์ความรู้, กระบวนการในการพัฒนา, การออกแบบดีไซน์, การตลาด และช่องทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ในตลาดต่างประเทศ และในประเทศ รวมไปถึงสินค้าชุมชนต่าง ๆ อีกมาก

ฉะนั้น จึงไม่แปลกเวลาใครไปญี่ปุ่น จึงมักสงสัยว่าทำไมสินค้าของประเทศเขาถึงออกแบบสวย แพ็กเกจจิ้งดี แถมราคายังค่อนข้างสูง

คำตอบง่าย ๆ คือเขาช่างคิด ไม่ได้คิดคนเดียวด้วย แต่คิดกันเป็นกระบวนการ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

โดยมีชุมชนของตัวเองเป็นผู้สร้างต้นทาง พัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่ม และหาช่องทางในการจำหน่ายสินค้าโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทั้งผลิตภัณฑ์ของชุมชนต่าง ๆ ยังปลอดสารพิษอีกด้วย หลายปีผ่านมา ผมมีโอกาสไปเรียนหนังสือ และไปดูงานของชุมชนต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่น ยอมรับจากห้องเรียนเลยครับว่าเวลาเขาทำอะไรนั้น…ทำจริง

ยกตัวอย่างชุมชน A คิดจะปลูกแอปเปิล เขาจะช่วยกันพัฒนาสายพันธุ์แอปเปิลร่วมกัน เพื่อค้นหาสายพันธุ์ดีที่สุด ต่อจากนั้นพอเวลาปลูกเขาจะช่วยกันคิดค้นนวัตกรรมในการปลูกเพื่อหาเครื่องมือมาช่วยเกษตรกรให้ทำงานน้อยลง รวมถึงการเก็บผลผลิตด้วย

เมื่อได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง ส่วนหนึ่งจะขายให้กับหน่วยงานกลางของชุมชนในราคาถูก เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าจากต่างเมืองมาซื้อไปขายในราคาที่สูงขึ้น รายได้ส่วนหนึ่งจากตรงนี้ นอกจากเกษตรกรจะได้ผลตอบแทน เขายังเอาส่วนต่างจากกำไรที่ได้มาเป็นเงินกองกลางให้กับหน่วยงานกลางของชุมชน เพื่อให้หน่วยงานกลางนำเงินที่งอกเงยเหล่านี้ไปพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งช็อปปิ้ง

ขณะที่แอปเปิลอีกส่วนหนึ่งจะถูกส่งออกไปขายต่างประเทศ

ตรงนี้ไม่เพียงเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น หากผลผลิตอีกส่วน ยังถูกนำแปรรูปไปเป็นไอศกรีมแอปเปิล, ชาแอปเปิล, น้ำแอปเปิล, ไวน์แอปเปิล และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ล้วนสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรทั้งสิ้น

นอกจากนั้น แอปเปิลยังถูกสร้างให้เป็นสัญลักษณ์ของเมือง จนใคร ๆ ต่างเรียกเมืองแอปเปิล ที่ไม่เพียงหน่วยงานกลางจะออกแบบดีไซน์สถานที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศมาเที่ยวแล้ว

ภายในหน่วยงานกลางยังเป็นที่ขายของที่ระลึกทุกอย่างด้วย ไม่ว่าจะเป็นพวงกุญแจ, ผ้าพันคอ, ผ้าเช็ดหน้า, เข็มกลัด, พวงกุญแจ และอื่น ๆ อีกมากมาย

จนทำให้นักท่องเที่ยวคนไหนที่หลงรักแอปเปิลเป็นต้องถูกละลายทรัพย์ เพราะทุกผลิตภัณฑ์ถูกออกแบบดีไซน์ และมีแพ็กเกจจิ้งสวยงามตามแบบฉบับคนช่างคิด ที่สำคัญ รายได้ต่าง ๆ เหล่านั้นยังถูกสะวิงกลับไปหาชุมชน เพื่อให้เกิดการค้นคว้า พัฒนานวัตกรรมต่อไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนอีกด้วย

ผมถึงบอกไงว่า…คนญี่ปุ่นช่างคิด และช่างทำ แถมไม่ได้คิดคนเดียวด้วย

แต่คิดกันเป็นกระบวนการ

ทั้งยังไม่งอมืองอเท้าให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนด้วย เพราะพวกเขาสามารถเลี้ยงดูชุมชนของตัวเองได้อย่างเข้มแข็ง และยั่งยืน

อยากรู้ไหมครับว่า…ผมกำลังพูดถึงชุมชนของเมืองอะไร ?

เมืองฮิโรซากิครับ

ส่วนหน่วยงานกลางนั้นมีชื่อว่า…ฮิโรซากิ แอปเปิล ปาร์ก

ผมเห็นแล้วอยากให้บ้านเราทำแบบนี้บ้างจังเลย ?