เสถียรภาพการเงินไทย ใครดูแล ?

คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยคิด
ผู้เขียน : นิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์ 
ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

คำว่า “เสถียรภาพระบบการเงิน” หรือ “financial stability” เป็นคำใหม่ที่ถูกพูดถึงในช่วง 10 กว่าปีหลังนี้ โดยเฉพาะหลังจากเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ซึ่งมีต้นเหตุมาจากทางการสหรัฐไม่ได้ดูแลเสถียรภาพระบบการเงินให้ดีเท่าที่ควร

ทำให้ความเสี่ยงสะสมใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งระเบิดขึ้นในตลาดสินเชื่อบ้านของสหรัฐ และลุกลามกลายเป็นความเสี่ยงต่อทั้งระบบการเงิน (systemic risk) รวมทั้งส่งผลกระทบ ต่อตลาดเงินทั่วโลกในปี 2008 นั่นเอง

เสถียรภาพระบบการเงินเป็นคำที่มีความหมายกว้าง เป็นภาวะที่ระบบการเงินสามารถทนทานต่อแรงกดดันต่าง ๆ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศได้ รวมทั้งทำหน้าที่ให้บริการทางการเงินและสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

ระบบการเงินนี้ครอบคลุมหลายองค์ประกอบ เช่น สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (nonbank) ผู้เล่นในตลาดเงินตลาดทุน เป็นต้น แล้วใครกันที่มีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพระบบการเงินของไทย

หากจะตอบแบบกำปั้นทุบดิน คือ ทุกคนที่มีส่วนร่วมในระบบการเงินต้องช่วยกันดูแล แต่หากจะกล่าวถึงผู้กำกับดูแลที่เป็นภาครัฐ (regulator) แล้ว ไทยมีหน่วยงานภาครัฐหลัก ๆ อยู่ 3 แห่ง ที่ช่วยกันดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ได้แก่

1.สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีหน้าที่กำกับดูแลตลาดทุน โดยกำกับดูแลบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และผู้ประกอบธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน

เพื่อให้ผู้ลงทุนเข้าถึงข้อมูลและตัดสินใจลงทุนได้อย่างเชื่อมั่น ภาคธุรกิจระดมทุนและประกอบธุรกิจในตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม โดยมีการบริหารความเสี่ยงมิให้ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง

2.สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีหน้าที่กำกับดูแลตลาดประกันภัย โดยกำกับดูแลบริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย เพื่อให้ธุรกิจประกันภัยมีความเข้มแข็งมั่นคง คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนไทย

3.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีหลายบทบาทหน้าที่ หนึ่งในนั้นคือการกำกับดูแลตลาดสินเชื่อ โดยกำกับดูแลสถาบันการเงินและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อ อาทิ ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ

รวมถึง nonbank ที่ ธปท.กำกับดูแล เช่น บริษัทบัตรเครดิต บริษัทบัตรกดเงินสด เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง มีประสิทธิภาพ และระบบการเงินมีความยืดหยุ่นรองรับความเปลี่ยนแปลงได้ดี (resilient)

regulator ทั้ง 3 หน่วยงาน มีอำนาจชัดเจนตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย แต่ด้วยความซับซ้อนของระบบการเงินที่เชื่อมโยงกันในหลายมิติ ก.ล.ต. คปภ. และ ธปท. จึงทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิด โดยมีการประชุมระหว่าง 3 หน่วยงานเป็นประจำทุกไตรมาส ที่เรียกว่า “3 regulators meeting” เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและมุมมองต่าง ๆ ตลอดจนหารือนโยบายเพื่อป้องกันความเสี่ยงและดูแลให้ระบบการเงินไทยมีเสถียรภาพ

นอกจากนี้ ผู้บริหารของ regulators ทั้ง 3 หน่วยงาน ยังนั่งอยู่ในคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการหลักของ ธปท.อีกด้วย โดย กนส.มีหน้าที่กำหนดนโยบายระบบสถาบันการเงินอย่างเหมาะสม เพื่อให้ระบบสถาบันการเงินมีเสถียรภาพมั่นคง

กฎหมายกำหนดให้กรรมการ กนส. มาจากเลขาธิการ ก.ล.ต. เลขาธิการ คปภ. ผู้ว่าการ ธปท. รองผู้ว่าการ ธปท. 2 ท่าน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 ท่าน รวมทั้งสิ้น 11 ท่าน จะเห็นได้ว่านอกจาก regulators ทั้ง 3 หน่วยงานแล้ว ใน กนส.ยังมีตัวแทนจากกระทรวงการคลัง และกรรมการอิสระจากภายนอกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญอีกด้วย

หากท่านผู้อ่านติดตามเศรษฐกิจไทย คงคุ้นเคยกับ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อันเป็นคณะกรรมการหลักอีกชุดหนึ่งของ ธปท. ซึ่งทำหน้าที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยมีเป้าหมาย 3 อย่าง ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน จะเห็นว่าเสถียรภาพระบบการเงินก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของ กนง.ด้วย เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญและมีผลกระทบเชื่อมโยงต่อทุก ๆ คนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ

ดังนั้น กนง. และ กนส. จึงมีการประชุมร่วมกัน (joint meeting) ปีละ 2 ครั้ง ในเดือนมิถุนายนและธันวาคม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและมุมมองเกี่ยวกับเสถียรภาพระบบการเงิน ตลอดจนหารือในเชิงนโยบายที่แต่ละ regulator จะดำเนินการและประสานงานกันเพื่อสร้างเสถียรภาพระบบการเงินไทยให้เข้มแข็ง

โดยจะออกแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุม joint meeting ทุกครั้ง เพื่อสื่อสารสถานการณ์ล่าสุดและประเด็นความเสี่ยงของเสถียรภาพระบบการเงินไทยให้สาธารณชนได้รับทราบ

นอกจากนี้ ธปท. ก.ล.ต. และ คปภ. ร่วมกันจัดทำ “รายงานเสถียรภาพระบบการเงินไทย” เป็นประจำทุกปี โดยรายงานฉบับล่าสุดออกมาเมื่อ 31 ธันวาคม 2564 มีใจความสำคัญ คือ ระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่หลายส่วนยังมีความเปราะบางจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่แน่นอนสูงและไม่เท่าเทียม ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจบางกลุ่ม

อย่างไรก็ดี ธพ.มีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ ธุรกิจประกันภัยในภาพรวมยังมีฐานะการเงินมั่นคง โดยผลกระทบของโควิด-19 จำกัดอยู่เฉพาะบางบริษัทที่ขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบ “เจอจ่ายจบ” ซึ่งทางการได้มีมาตรการการดูแลอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ผลการทดสอบภาวะวิกฤต (stress test) ชี้ว่า ระบบสถาบันการเงินยังมีความเข้มแข็งเพียงพอรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น ขณะที่ตลาดการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพและสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ ท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถติดตาม รายละเอียดได้ในเว็บไซต์ของ ธปท.ครับ

อันที่จริงนอกจาก ธปท. ก.ล.ต. คปภ.แล้ว ไทยยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ช่วยกันดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ทั้งในภาพรวมและเฉพาะด้าน เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ดูแลภาพรวมด้านการคลัง การเงิน และเศรษฐกิจ รวมถึงกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินบางประเภท เช่น พิโกไฟแนนซ์

กรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.) และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ (กตส.) ที่กำกับดูแลสหกรณ์ทุกประเภท รวมถึงสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากในระบบการเงินไทย

เคยมีผู้รู้เปรียบเทียบไว้ว่า “เสถียรภาพ ระบบการเงินไทย ก็เปรียบเสมือนสุขภาพของคนเรา”

ช่วงที่เรามีสุขภาพดี ดำเนินชีวิตได้อย่างปกติราบรื่น อาจทำให้เราละเลยการรักษาสุขภาพ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การกินแต่อาหารที่มีประโยชน์

เพราะสร้างความเหน็ดเหนื่อยและความไม่รื่นรมย์ในชีวิต แต่เมื่อใดก็ตามที่เรามีปัญหาสุขภาพก็จะนึกเสียใจว่าควรทำหลาย ๆ เรื่องในช่วงก่อนหน้า เช่นเดียวกับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน

การประชุมและตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอก็เปรียบเสมือนการตรวจสุขภาพตามกำหนดและการฟังคำแนะนำจากหมอเพื่อรักษาสุขภาพ ซึ่งจะส่งผลดีต่อทุก ๆ คนที่มีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจการเงินไทยครับ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย