Cloud ERP ตัวช่วยยกระดับ ธุรกิจแปรรูปอาหารไทย

คอลัมน์ : ช่วยกันคิด
ผู้เขียน : พงษ์ประภา นภาพฤกษ์ชาติ
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

การแปรรูปอาหารเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของไทยที่มีแนวโน้มจะเผชิญกับความท้าทายจากมาตรฐานและกฎระเบียบทางการค้าใหม่ ๆ ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะการตรวจสอบย้อนกลับ (food traceability) ในด้านที่มาของกระบวนการผลิตและการขนส่งสินค้าจากประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐ ภายในปี 2566 รวมถึงกระแสที่ผู้บริโภคเริ่มตื่นตัวทางด้านสุขอนามัยของอาหารมากขึ้น จึงทำให้มีความต้องการรู้แหล่งที่มาและกระบวนการผลิตของสินค้ามากขึ้นตามไปด้วย

ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นตัวเร่งที่ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารของไทยต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS มองว่า การมีระบบจัดการข้อมูลที่ทันสมัยเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารของไทยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ และยังเพิ่มโอกาสในการส่งออกอีกด้วย โดยปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนใหญ่โดยเฉพาะ SMEs ยังเก็บข้อมูลกระบวนการผลิตในรูปแบบเอกสาร ทำให้การตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับทำได้ไม่ง่าย

Cloud Based Enterprise Resource Planning Software (ซอฟต์แวร์ Cloud ERP) เป็นเครื่องมือหนึ่งที่พัฒนาขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยไม่ต้องลงทุนฮาร์ดแวร์มาก จึงเหมาะสมกับผู้ประกอบการที่มีงบประมาณจำกัด อีกทั้งซอฟต์แวร์ดังกล่าวยังถูกใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ค้าปลีก ธนาคารพาณิชย์ และโทรคมนาคม

Cloud ERP คือซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการวางแผนและจัดการกระบวนการทางธุรกิจ เช่น บริหารสินค้าคงคลัง ควบคุมคุณภาพในการผลิต จัดการด้านบัญชี ซึ่งระบบจะรวบรวมและประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ ขององค์กรบนระบบ cloud ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ ERP

โดยทั่วไปซอฟต์แวร์ Cloud ERP ประกอบด้วย 5 ระบบย่อย ได้แก่ 1) ระบบบริหารทรัพยากรการผลิต ซึ่งมักถูกใช้ในการติดตามกระบวนการผลิตแต่ละขั้นตอน รวมทั้งวางแผนการจัดเก็บสินค้าคงคลัง 2) ระบบบริหารจัดการทรัพยากรการเงิน การจัดการข้อมูลทางบัญชี และวิเคราะห์ความคุ้มค่าในโครงการและผลิตภัณฑ์ใหม่ 3) ระบบบริหารจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า เก็บข้อมูลซื้อขายและใช้บริการของลูกค้า เพื่อนำมาวิเคราะห์แนวโน้มและความสนใจการซื้อสินค้าของลูกค้าแต่ละราย

4) ระบบบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ใช้ในการติดตามและควบคุมกระบวนการห่วงโซ่อุปทาน เพื่อจัดสรรทรัพยากรขององค์กรให้มีประสิทธิภาพ และ 5) ระบบบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล เพื่อวิเคราะห์และประเมินประสิทธิภาพในการทำงาน

Krungthai COMPASS มองว่า ในระยะเริ่มต้นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารของไทย โดยเฉพาะ SMEs ควรติดตั้งซอฟต์แวร์ Cloud ERP ในส่วนของระบบบริหารทรัพยากรการผลิต เพราะระบบย่อยนี้ช่วยปรับปรุกระบวนการผลิตและกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งจะส่งผลให้ยอดขายดีขึ้น

เนื่องจากสามารถตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการรู้แหล่งที่มาของอาหารมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกกีดกันทางการค้าจากประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะประเทศที่มีความเข้มงวดในการตรวจสอบย้อนกลับ เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐ ในระยะข้างหน้า โดยระบบย่อยดังกล่าวจะช่วยบันทึกและประมวลผลข้อมูลรายละเอียดของกระบวนการผลิตของสินค้าในแต่ละประเภท ทั้งในแง่ของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต วิธีการผลิต และแหล่งที่มาของวัตถุดิบ

ข้อมูลของ Marks and Spencer Group (M&S) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ของอังกฤษ พบว่าหลังจาก M&S นำเอาซอฟต์แวร์ ERP มาใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับกระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์เนื้อวัว ยอดขายสินค้าดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากซอฟต์แวร์นี้จะแสดงให้ผู้บริโภคเห็นกระบวนการผลิตแต่ละขั้นตอน รวมทั้งช่วยปรับปรุงกระบวนการคัดเลือกสินค้า จึงทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในสินค้ามากขึ้น และกลับมาซื้อซ้ำเพิ่มขึ้นตาม

โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากผู้ประกอบการขนาด SME ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารของไทยราว 1,000 ราย ติดตั้งซอฟต์แวร์ Cloud ERP ในส่วนของระบบบริหารทรัพยากรการผลิต จะทำให้ยอดขายโดยรวมของ
ผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยสะสมปีละ 13% จาก 9.46 หมื่นล้านบาท เป็น 1.376 แสนล้านบาท ในปีที่ 3 ของการติดตั้ง ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินของ Forrester Research ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านการทำวิจัย และให้ปรึกษาทางธุรกิจของสหรัฐ

นอกจากนี้ระบบบริหารทรัพยากรการผลิตยังช่วยทำให้อัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้น เนื่องจากระบบจะช่วยวางแผนในการซื้อวัตถุดิบและบริหารสินค้าคงคลังให้เหมาะกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งสามารถช่วยให้สินค้าคงคลังหมุนเวียนเร็วขึ้น 3.5 เท่า ซึ่งทำให้ความสูญเสียจากการเน่าเสียของสินค้าลดลง ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

และในลำดับถัดไป ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารควรติดตั้งระบบบริหารจัดการทรัพยากรทางการเงิน ซึ่งจะสนับสนุนให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากการติดตั้งเพียงระบบบริหารทรัพยากรการผลิต

Krungthai COMPASS ประเมินว่า การติดตั้งและใช้ซอฟต์แวร์ Cloud ERP ของผู้ประกอบการขนาด SMEs ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารของไทยยังมีอุปสรรคสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ 1) ค่าใช้จ่ายในการใช้บริการที่ค่อนข้างสูง และ 2) การไม่ยอมรับการใช้ซอฟต์แวร์ Cloud ERP จากพนักงานในองค์กร

1) ค่าใช้จ่ายในการใช้บริการซอฟต์แวร์ Cloud ERP ที่ค่อนข้างสูง หากติดตั้งครบทั้ง 5 ระบบย่อย มักจะสูงถึง 2 ล้านบาท/ปี

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัดด้านเงินลงทุนสามารถแก้ปัญหาโดยการเลือกติดตั้งเฉพาะระบบย่อยที่มีความจำเป็นในการแก้ปัญหาขององค์กร รวมทั้งการขอสนับสนุนเงินทุนจากการภาครัฐ เช่น โครงการ Digital Transformation Funds ซึ่งจะสนับสนุนเงินทุน 50% ของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ Cloud ERP แต่ไม่เกิน 200,000 บาท แก่ผู้ประกอบการSMEs (รายได้ต่ำกว่า 300 ล้านบาท)

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการติดตั้งซอฟต์แวร์ Cloud ERP ยังสามารถขอลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยการยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ภายในสิ้นปี 2565 
ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปี ในสัดส่วน 50% ของเงินลงทุน

2) การไม่ยอมรับการใช้ซอฟต์แวร์ Cloud ERP จากพนักงานในองค์กร รวมถึงการใช้งานซอฟต์แวร์ที่ผิดวัตถุประสงค์ อาจทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้รับประโยชน์ ผู้ประกอบการควรทำความเข้าใจกับพนักงานในองค์กรและจัดการฝึกอบรมวิธีการใช้เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานสามารถใช้งานซอฟต์แวร์ได้อย่างถูกต้องและตรงตามวัตถุประสงค์

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่สนใจที่จะติดตั้งซอฟต์แวร์ Cloud ERP ควรวิเคราะห์ปัญหาและสำรวจความต้องการของแต่ละแผนกในองค์กร ก่อนที่จะเลือกติดตั้งระบบย่อยของซอฟต์แวร์ ที่เหมาะกับลักษณะการทำงาขององค์กร เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพสูงสุด