กุมขมับค่าครองชีพปีเสือแพง แต่ค่าแรง (เท่าเดิม)

คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กษมา ประชาชาติ

ร้อนแรงยิ่งกว่าโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่โอมิครอน ก็ปัญหาค่าครองชีพปีเสือนี่แหละ

โค้งสุดปีก่อน “น้ำมันดิบ” ตลาดโลกทะลุ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับราคาขายปลีกไป 11 รอบ แต่นี่เปิดปีเสือมายังไม่ถึง 1 เดือน ราคาปรับขึ้นไปแล้วถึง5 รอบ รวมเฉลี่ย 2-3 บาทต่อลิตร และมีการประกาศปรับค่าขนส่งค่าโดยสารเรืออีก 1 บาท ค่าทางด่วน 15-35 บาท

ค่าไฟฟ้าก็ไม่น้อยหน้า มีการปรับค่าเอฟที หรือค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2565 อัตรา 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ครั้งแรกในรอบ 2 ปี ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 3.78 บาท จากต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาตินำเข้าที่ปรับตัวสูงขึ้น

แต่ที่เดือนร้อนกระเป๋าตังค์มากที่สุด คือ “ราคาสินค้าเกษตรและอาหาร” ปรับขึ้นยกแผง ทั้งราคาผลปาล์มที่ปรับขึ้นวันนี้ไปถึง กก.ละ 11 บาท สูงสุุดในรอบ 10 ปีแล้ว น้ำมันปาล์มขวดจึงทะลุไปถึง 59 บาท แซงราคาน้ำมันถั่วเหลืองที่ขวดละ 55 บาท ทั้งที่แต่ก่อนน้ำมันปาล์มถูกกว่าถั่วเหลือง

ไม่ใช่เท่านั้น สินค้าปศุสัตว์ อย่าง “เนื้อหมู” ปรับขึ้นรายวัน ผันผวนจนเหมือนคริปโตเคอร์เรนซี ในไตรมาส 3 ปีก่อน ราคาหน้าฟาร์มยังเงียบเหงาขายกัน กก.ละ 60 บาท ผู้เลี้ยงรายย่อยตื่นกลัวโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร หรือ ASFแถมต้นทุนอาหารสัตว์ปรับขึ้น 30-40%ทนไม่ไหวต้องปิดฟาร์ม เทขายหมูทิ้ง

ไม่นานจากนั้น สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประกาศปรับขึ้น กก.ละ 4 บาท เมื่อ 29 ก.ย. 2564 และขึ้นราคาติด ๆ กันจนราคาหน้าฟาร์มทะยานไปถึง กก. 70 บาท และทะลุ กก.ละ 100 บาท ไปเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2565

ปีนี้คนไทยจึงได้เห็นราคาเนื้อหมูทะลุ กก.ละ 200 บาท เป็นครั้งแรก แต่ภาวนาขอให้อย่าถึง 300 บาท นี่ถ้าเป็นรัฐบาลอื่นแค่ทะลุ 120- 150-160 บาท ก็ด่ากันทั่วบ้านทั่วเมืองแล้ว แต่ยุคนี้ต้องประหยัดแม้กระทั่งน้ำลาย

พอผู้บริโภคจะหันไปหา “โปรตีนทดแทน” ทางอื่น ก็ปรากฏว่า ทั้งไก่ และไข่ ก็ขึ้นเหมือนกันสิคะ หันไปทางคาร์โบไฮเดรต ข้าวเหนียวก็แพงอีก ไม่นับของใช้ส่วนตัวที่ปากบอกราคาเดิม แต่หนีไปเปลี่ยนสูตรตั้งราคาใหม่หมดแล้ว อย่าให้ต้องสาธยายว่ามีอะไรบ้าง

เอฟเฟ็กต์ไม่ใช่แค่ต้นทาง กระทบต่อไปถึงร้านอาหารต่าง ๆ ประกาศขยับราคารับต้นทุนใหม่ในปีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารดัง อย่าง Mo Mo Paradise ร้านสุกี้ตี๋น้อย ร้าน Narai Pizzarai x ข้าน้อยขอชาบู ร้านหมูทอดเจ๊จง ร้านหมูย่างเมืองตรัง อีกนับ 10 ร้าน

กระทรวงพาณิชย์ในฐานะแม่ทัพดูแลราคาสินค้าก็งัด “ท่าไม้ตาย” ทุกท่ามาใช้ครบ ทั้งขอความร่วมมือตรึงราคาจำหน่าย จับสินค้าที่ราคาผันผวน เนื้อไก่-ไก่ ขึ้นในบัญชีควบคุม ห้ามส่งออกหมูไปต่างประเทศ 3 เดือนเร่งผลิตหมูเข้าสู่ระบบ ของบประมาณ 1,500 ล้านบาทจัดธงฟ้า เชือดโชว์พ่อค้าแม่ค้าโก่งราคา ตั้งวอร์รูมและลงพื้นที่ตรวจสอบราคาสินค้าทุกวัน

ผ่านมาถึงจุดนี้ มนุษย์เงินเดือนอย่างเรายังรู้สึกว่าของแพงอยู่ดี แถมเงินในกระเป๋าลดลง แล้วคนใช้แรงงานค่าจ้างวันละ 300-400 บาท จะอยู่กันได้อย่างไร

ราคาสินค้าเป็นโจทย์หลัก หากยังไม่สามารถแก้ปัญหาค่าครองชีพให้คลี่คลายลงได้ ไทยอาจต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นถึง 3% กำลังซื้อหดตัวจากอัตรารายได้ต่อหัวที่ไม่เพิ่มขึ้น แถมยังต้องเผชิญกับภาวะหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงอีก

หากมองบวกวิกฤตนี้เป็นโอกาสแสดงฝีมือการทำงาน แม่ทัพเศรษฐกิจ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์กำกับทั้งกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน แต่ก็อาจเป็นเกมเชนเจอร์รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้เช่นกัน