แดดเช้าที่หายไป

เกอเธ่

 

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สมถวิล ลีลาสุวัฒน์

วันก่อนได้ยกหูทำความรู้จักกับแหล่งข่าวท่านหนึ่ง ทำงานเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง โครงการใหญ่แห่งหนึ่งใจกลางเมือง เดิมทีคิดไว้ ถ้าเราแนะนำตัวไปว่าเป็นนักข่าว เขาคงตัดสายทิ้ง

แต่ผิดคาด เขายอมคุย ทั้งแนะนำสิ่งดี ๆ ในเรื่องหลักการและหลักกูให้ฟัง ดูแล้วธรรมะธัมโมอยู่บ้าง ใจเราก็พองโต ดีใจ งานได้ไปต่อแล้วนะ ประเด็นไม่ตัน

เพราะสิ่งที่เราถามไป เหมือนไปชี้ความเป็นความตาย ความถูกความผิดให้เขาเลือกตอบ ซึ่งเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง

วินาทีนั้นเลยตั้งคำถามใหม่ “คุณอยากพูดอะไร เกี่ยวกับข่าวไฮโซ ชุมชนในซอยเกอเธ่ ย่านสาทร-งามดูพลี ที่ออกมาร้องเรียนเรื่องตึกสูง”

“เรื่องนี้ต่างจิตต่างใจ กฎหมายเป็นเรื่องหนึ่ง หน้าที่ความรับผิดชอบก็เป็นอีกเรื่อง ผมเป็นลูกจ้างดูแลงานก่อสร้างพื้นฐานใต้ดิน แรงสั่นสะเทือนมีอยู่แล้ว แต่เราตั้งมาตรฐานไม่ให้เสียงและแรงสั่นเกินกว่าที่ทางการกำหนด”

“ผมเป็นด่านแรกที่เจอ ต้องคอยรับแรงปะทะ ผมเห็นใจทุกฝ่าย ยิ่งคนมีบ้านอยู่แถวนี้ และที่อื่น ๆ ที่ความเจริญไล่ล่า แต่ผู้ประกอบการหรือเจ้าของโครงการเขามาอย่างถูกต้อง เราควรจะทำอย่างไร นี่คือคำถามที่ผมกำลังหาคำตอบ”

โฟร์แมนหนุ่มเล่าว่า เรื่องร้องเรียนเกิดขึ้นมาปีกว่าแล้ว คุยกันไม่จบ เมื่อเจ้าของโครงการได้รับไลเซนส์ใบอนุญาตก่อสร้างและรายงานสิ่งแวดล้อมอีไอเอ เราก็ลงพื้นที่ สำรวจดิน เริ่มงาน เมื่อมีเสียงตัดพ้อว่ามา ผมก็ไปพบเจ้าของบ้านที่ได้รับผลกระทบว่า มีปัญหาจุดไหน อย่างไร เราจะช่วยแก้ไขให้เร็ว ประเด็นคือ ใจเขา ใจเรา

ปรากฏว่า เจ้าของบ้านผู้มีชื่อเสียงในวงสังคม หนึ่งในตัวแทน 19 คนของซอยเกอเธ่ ให้คนรับใช้ออกมาพบ แล้วตัวเขาเองอยู่ในบ้าน ตอนนั้นผมรู้สึกจุกที่คอ ทำไมซอยที่ขึ้นชื่อว่า เป็นย่านของคนมีความรู้ และฐานะดี ปฏิบัติกับคนไม่เท่ากัน

“หรือเพราะว่า ผมไม่มีอำนาจ เป็นแค่ลูกกระจ๊อก”

ทำให้ “ปัญหา” ยังคงอยู่ และบานปลายไปเรื่อย ๆ

เพราะกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ตอบข้อหารือผ่านเจ้าของโครงการถึง “หลักการ” ไว้ครอบคลุมแล้ว

ทั้งกฎหมายควบคุมอาคาร ระยะถอยร่น ข้อจำกัดความสูง และสิ่งแวดล้อม รายละเอียดล้วนเกี่ยวโยงถึงกันหมด โดยเฉพาะผู้มีอำนาจในการตีความ ทั้งบิ๊ก กทม. และกระทรวงมหาดไทย

ขณะที่ผู้เสียหายหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งเป็นกลุ่มชุมชนในซอยแคบได้หยิบยกข้อกฎหมายเดียวกัน แต่ต่างข้อมาตีความ ทำให้คำตอบกลายเป็นเส้นขนาน

เมื่อหลักการถูกต้องก็เดินหน้า แต่ยังรายล้อมด้วยเสียงคัดค้าน

แหล่งข่าวเล่าว่า ที่ดินผืนนี้ (หัวมุมซอยเกอเธ่-ซอยงามดูพลี-ริมถนนพระรามสี่) อยู่ติดกับภัตตาคารจันทร์เพ็ญ ถือว่าเป็นที่ดินแปลงเด็ด ทำเลดีมาก

ซึ่งเจ้าของก็คือเพื่อนบ้านด้วยกันเองกับตัวแทนชุมชนที่ร้องเรียน โดยได้เปลี่ยนมือให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯเช่าระยะยาว เพื่อลงทุนทำโรงแรมใหม่สูง 41 ชั้น หรือ 194 เมตร ขานรับทำเลทองมิกซ์ยูสในอนาคต

“ผมอยากรู้ใจลึก ๆ คนที่เดือดร้อนจริง ๆ อยากได้อะไร ซึ่งผู้รับผิดชอบทางเอกชนจะได้เยียวยาได้ถูกคนถูกเวลา”

การต่อสายอีกครั้งกับผู้ร้องเรียนที่เปิดหน้าเปิดตัวเรื่องการคัดค้านบิ๊กโปรเจ็กต์อย่าง คุณต่อ สันติศิริ นักธุรกิจโฆษณายุคบุกเบิก เพื่อนสนิท ภาณุ อิงคะวัต ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง

“ตัวผมไม่ได้มีปัญหากับเอกชนเแต่มีคำถามกับ กทม.มากกว่า อีกอย่างไม่รู้ว่า ระดับท็อปเจ้าของโครงการรู้รายละเอียดหรือไม่ เข้าใจตรงกันหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่ผมสงสัย”

ส่วนความเดือดร้อน แน่นอนการลงเสาเข็มกับโครงการใหญ่ขนาดนี้ คนที่มีบ้านอยู่ใกล้สุด ย่อมอยู่ไม่ได้ ข่าวว่าเพื่อนบ้านผมต้องไปเช่าที่อื่นอยู่เสียเงินเป็นหมื่น ตรงนี้ก็มีคำถามว่า เจ้าของโครงการมีโรงแรมอยู่สิบกว่าแห่ง น่าจะเยียวยาให้เขาพักอาศัยในช่วงที่โครงการกำลังก่อสร้าง”

“สำหรับตัวผม บ้านพักอยู่ห่างกับสิ่งปลูกสร้าง 70 เมตร จะเดือดร้อนก็ตรงที่ไม่ได้รับแดดเช้าอีกต่อไป ถ้าโรงแรมใหม่สร้างเสร็จ”