“โศกนาฏกรรม” การศึกษาไทย

คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ ประชาชาติ

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แวดวงการศึกษาไทยเกิดเรื่องดราม่าร้อนฉ่าหลายเคส ถึงขั้นมีการพูดว่าเป็น “โศกนาฏกรรม” การศึกษาไทยกลาย ๆ ก็ไม่ผิดความหมายของผู้ที่วิจารณ์

เคสแรก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประกาศผ่านเว็บไซต์ว่า จะไม่มีการเปิดรับสมัครโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี สำหรับเด็กและเยาวชน รุ่นที่ 25 เนื่องจากการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ

วันรุ่งขึ้น สวทช.ชี้แจงว่า ที่ไม่เปิดรับสมัครเป็นเพียงการชะลอกิจกรรมการเข้าค่าย (เรียกว่าค่าย JSTP ระยะสั้น) เพื่อค้นหาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมรับทุน JSTP (ระยะยาว) ในปีการศึกษา 2566 เนื่องจากสถานการณ์งบประมาณ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

กรณีนี้ถูกหยิบเอามาเปรียบเทียบกับ “ข้ออ้าง” ความจำเป็นในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ทั้งเครื่องบินรบ รถหุ้มเกราะ เรือดำน้ำ และอีกสารพัดในยุครัฐบาลทหาร ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลผสมทหาร-พลเรือน ผ่านการเลือกตั้ง

เกือบทุกครั้งที่สภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่เสนอโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วาระการจัดซื้ออาวุธของกองทัพก็ถูกพูดถึงทุกครั้ง

ลองเปรียบเทียบงบประมาณ 2565 ของ สวทช.กับการใช้งบฯของกองทัพให้เห็นความแตกต่าง

สวทช.มีแผนการใช้งบประมาณรายจ่าย 8,837 ล้านบาท ส่วนโครงการ JSTP (Junior Science Talent Project) ถูกจัดไว้ในส่วนของแผนงานเสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ได้รับงบฯ 1,055 ล้านบาท โดยอยู่ในงบฯรายจ่ายดำเนินงาน ที่มีอยู่ทั้งหมด 3,200 ล้านบาท

หากเทียบกับการอนุมัติงบฯซื้อเรือดำน้ำจากจีน ที่ลากยาวตั้งแต่ปี 2560 จำนวน 3 ลำ ที่เริ่มอนุมัติการจัดซื้อเรือลำแรก เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 วงเงิน 13,500 ล้านบาท และอีก 2 ลำที่ยังคาราคาซังอยู่ถึงบัดนี้ จำนวน 36,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 11 ปี

จะเห็นว่าแผนงานเสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ได้รับงบฯ 1,055 ล้านบาท เทียบไม่ได้กับการจัดซื้อเรือดำน้ำแค่ลำเดียว

เคสที่สอง เป็นเรื่องที่แอดมินเพจ Mytcas ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ตอบคำถาม ที่นักเรียนสอบถามว่า ถ้าติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 และรักษาหายไม่ทันสอบในระบบกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส จะต้องทำอย่างไร

“แอดมินเพจตอบว่าให้เข้าสอบในปีถัดไป หรือไม่ก็เลือกสาขาวิชาที่ไม่ต้องใช้คะแนนสอบ” กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต โดนถล่มในโซเชียลมีเดีย ถึงขั้นติดแฮชแท็ก แบน ทปอ.

ร้อนไปถึง “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ที่บอกว่า ขณะนี้กำลังให้กระทรวงศึกษาธิการหาทางออกในเรื่องดังกล่าวอยู่ และเด็กนักเรียนไม่ควรที่จะเสียสิทธิ หรือเสียโอกาสไปอีกปี เชื่อว่า จะมีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวออกมา เพราะตนจะไปหารือกับกระทรวงศึกษาธิการ

ขณะที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ที่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ทปอ.ควรมีมาตรการรองรับที่ดีมากกว่านี้ และได้มอบหมายให้นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ.เป็นคนกลางไปคุยกับ ทปอ.เพื่อหาทางออกร่วมกัน เพราะ ศธ.ไม่อยากให้เด็กเสียโอกาสไป 1 ปี เพราะติดเชื้อโควิด-19

กระนั้น นายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล ประธานคณะกรรมการการพัฒนาระบบทีแคส ปีการศึกษา 2565 ของ ทปอ. เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการหารือแก้ปัญหาดังกล่าว ยืนยันจะไม่มีการจัดสอบรอบพิเศษให้นักเรียนที่ไม่สามารถมาสอบ วิชาความถนัดทั่วไป หรือ GAT และวิชาความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT ได้ ในวันและเวลาที่กำหนด

เนื่องจากเป็นการจัดสอบแข่งขัน ที่ต้องสอบในวันและเวลาเดียวกันเพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ส่วนกรณีที่นายวิษณุระบุว่า เด็กไม่ควรเสียสิทธินั้น ยังไม่แน่ใจว่าหมายความว่าอะไร แต่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นการสอบแข่งขัน ไม่ใช่การสอบเพื่อวัดมาตรฐานทั่วไป

เคสล่าสุดโลกโซเชียลตั้งข้อสงสัยเหตุที่โรงเรียนปฐมวัยแห่งหนึ่งใน จ.สุพรรณบุรี เปิดรับสมัครครู โดยมีอัตราเงินเดือนเพียง 5,000 บาท ส่งผลให้โลกโซเชียลแตกตื่น และนี่ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะโซเชียลแตกตื่นทุกครั้งที่สื่อหยิบเรื่องครูอัตราจ้างที่มีค่าตอบแทนแค่ 5,000-6,000 บาท สวนทางกับค่าครองชีพที่แพงขึ้นทุกวัน

ถ้าเราไม่ติดอาวุธการศึกษา ถ้าเราไม่ลงทุน-ทุ่มทุนสร้างทรัพยากรมนุษย์ในประเทศ โดย upskill-reskill เพื่อให้อยู่รอดได้อย่างไม่ลำบากในโลกอนาคต เอาแค่ 5-10 ปีข้างหน้า ก็ยังไม่เห็นทางออก

ลองเทียบกับเวียดนามที่เรายกเป็น “คู่แข่ง” ด้านเศรษฐกิจ ในปี 2019 เวียดนามลงทุนในการศึกษาถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมด เน้นเรื่องการพัฒนาคุณภาพ โดยเฉพาะคุณภาพหลักสูตรและคุณภาพครูเป็นหลัก เน้น “สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้เรียน”

ผลลัพธ์ในวันนี้เวียดนามผลิตรถ EV ยี่ห้อ VinFast ของตัวเองบุกตลาดยุโรป และอเมริกา ส่วนไทยยังภูมิใจกับการเป็น “ฐานการผลิต”

ดังนั้น ต่อให้มีหัวรบนิวเคลียร์ มีขีปนาวุธยิงไกลข้ามโลก ข้ามทวีป ก็ไม่ทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าได้ ในโลกนี้มีให้เห็นมากมายหลายประเทศ

อย่าปล่อยให้การศึกษาไทยกลายเป็นโศกนาฏกรรม