เมื่อ “ประยุทธ์” ให้ติดตาม Blockchain

จับตาบล็อกเชน
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ 
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ ประชาชาติ

ข้อสั่งการข้อหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านการแถลงข่าวของธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาล ว่า

“นายกฯฝาก ครม.ติดตามการใช้เทคโนโลยีและการบริหารจัดการสมัยใหม่ เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) การจัดเก็บข้อมูลดิจิทัลที่ไม่ผ่านตัวกลาง มีความโปร่งใสที่มาพร้อมกับความต้องการการใช้พลังงานที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เป็นการเปิดช่องและสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ แต่ละหน่วยงานจึงต้องศึกษาและนำมาปรับใช้ในการบริหารและจัดการตามแนวทางการปฏิรูปยุทธศาสตร์ชาติ”

ทว่า ในช่วง 1-2 ปีมานี้เรื่องของ blockchain ถูกพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะแวดวงไอที-ธนาคาร อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง

แต่กระจายไปในวงกว้าง เมื่อปัจจุบันมีเรื่องสกุลเงินดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น bitcoin เพราะพื้นฐานเบื้องหลังการทำงาน bitcoin ก็คือ blockchain

อย่างไรก็ตาม blockchain ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกมากมาย

พล.อ.ประยุทธ์สั่งการในที่ประชุม ครม.ให้ “ติดตาม” การใช้เทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

แต่หากเทียบกับประเทศอื่น ๆ หลายประเทศ คำสั่งแค่ “ติดตาม” การใช้เทคโนโลยีเพื่อนำมาปรับใช้อาจจะช้าไปมาก

ทั้งที่รัฐบาลก็มี “กลไก” หรือ “มือไม้” ในการรองรับความเปลี่ยนแปลง เช่น สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ที่ออกหนังสือเรื่อง BlockChain for Government Services ที่สรุปแนวทางเพื่อให้หน่วยงานของรัฐบาลไปประยุกต์ใช้ตั้งแต่ต้นปี 2564

คำถามคือ…ที่ผ่านมานายกฯในฐานะหัวหอกรัฐบาลดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง ?

แต่สำหรับในต่างประเทศมีการใช้ blockchain ในการบริหารจัดการภาครัฐมานานหลายปีแล้ว

จากหนังสือเล่มดังกล่าวมีการยกตัวอย่างประเทศที่ใช้ blockchain ทำงาน เช่น

เอสโตเนียซึ่งเป็นประเทศแรก ๆ ที่ได้นำ blockchain และดิจิทัลมาใช้ในการบริหารประเทศแบบเต็มตัว

แยกเป็น e-Residency, e-Court, electronic land register, electronic health care record และ i-Voting

กระทั่งในปี ค.ศ. 2001 เริ่มทำโครงการ X-Road หรือทางเชื่อมข้อมูลภาครัฐ โดยเชื่อมข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศเอสโตเนียเข้าด้วยกัน

ประเทศอังกฤษหยิบ blockchain มาใช้ในการป้องกันระบบโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ

โดยมีการพัฒนาโครงการ Blockchain-Based Cybersecurity Services for Critical British มาใช้ในระบบป้องกันน้ำท่วม ระบบควบคุมพลังงานนิวเคลียร์ รวมถึงระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้า ป้องกันไม่ให้แฮกเกอร์มาปั่นป่วนระบบ

สหรัฐอเมริกาใช้ blockchain มาจัดเก็บข้อมูลภาครัฐเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้ง่ายขึ้น

ลงลึกไปถึงกรณีศึกษาที่รัฐอิลลินอยส์ของสหรัฐได้นำระบบ identity management บนเทคโนโลยี blockchain มาใช้ในการเก็บสูติบัตรของเด็กทารกแรกเกิด (birth registration) รวมถึงระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลของประชาชนในระยะยาว

ทำให้รัฐบาลสามารถที่จะตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดของประชาชน รวมไปถึงข้อมูลทางชีวภาพ (biometric) อื่น ๆ ได้ เช่น กรุ๊ปเลือด ลายนิ้วมือ เสียง ม่านตา และดีเอ็นเอ

มหานครดูไบนำ blockchain มาใช้ในการจัดเก็บและส่งต่อข้อมูลประวัติการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมอ พยาบาลเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เข้าถึงข้อมูลประวัติการรักษาอย่างรวดเร็ว และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาล กำหนดแผนการรักษา การนัดการรักษา และอื่น ๆ


หันกลับมาที่ไทย… ?