ทีมรองบ่อน : เหตุผลที่เทใจให้

ทีมรองบ่อน
คอลัมน์ : นอกรอบ
ผู้เขียน : รณดล นุ่มนนท์

มนุษย์มีความคิดที่ย้อนแย้งในตัวเองหลายเรื่อง ที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือเราทุกคนต่างมีเป้าหมายสู่ความสำเร็จในชีวิต แต่เมื่อเห็นคนอื่นทำสำเร็จ ใจลึก ๆ เรากลับทำใจไม่ได้ จนทำให้เกิดความรู้สึกเทใจไปอยู่ข้างฝ่ายที่ตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบ

ทั้งนี้ ในวงการกีฬา ทีมที่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง มักจะมีผู้ติดตาม และเชียร์เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม มีแฟนกีฬาจำนวนไม่น้อยที่ส่งเสียงเชียร์ทีมรองบ่อน หรือถูกขนานนามว่าทีม “อันเดอร์ด็อก” ด้วยความเห็นอกเห็นใจ อยากเห็นทีมเหล่านั้นประสบความสำเร็จบ้าง

ทีมเบสบอลโรงเรียนมัธยมคานาอาชิ โนเกียว ในจังหวัดอาคิตะ ถือเป็นเรื่องราวตัวอย่างของทีมรองบ่อนทีมหนึ่ง เพราะสามารถสร้างปาฏิหาริย์ทะลุเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศในการแข่งขันเบสบอลระดับมัธยมปลาย ชิงแชมป์ประจำปีของญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า “โคชิเอ็ง”

การแข่งขันรายการนี้ถือเป็นความฝันของเด็กนับหมื่นคนจากโรงเรียนมัธยมกว่า 3 พันแห่งทั่วเกาะญี่ปุ่น ที่ต้องการเข้าร่วมแข่งขัน ที่สำคัญ การแข่งขันครั้งนี้เป็นการแข่งขันครั้งที่ 100 พอดิบพอดี ทีมโรงเรียนคานาอาชิฯเข้าไปชิงชนะเลิศกับทีมโรงเรียนโอซากา โทอิน อดีตแชมป์ 4 สมัย เป็นสถาบันการศึกษาที่ปั้นนักเบสบอลให้เป็นนักเบสบอลอาชีพได้หลายคน เรียกได้ว่าทีมมัธยมคานาอาชิฯเป็นรองหลายขุม ทั้งคุณภาพของนักกีฬา ทุนทรัพย์ และการเตรียมทีม

แต่เมื่อแฟนชาวญี่ปุ่นรับทราบว่า พื้นเพนักเบสบอลของทีมคานาอาชิฯมาจากครอบครัวเกษตรกรที่ต้องการสานฝันตนเอง รวมทั้งโรงเรียนไม่ได้มุ่งเน้นในด้านกีฬา แต่ส่งเสริมการเรียนเกษตรทันสมัยเพื่อนำไปเลี้ยงชีพในอนาคต พร้อมทั้งมีกฎน่ารัก ๆ เช่น หากนักเรียนขโมยแอปเปิล และสาลี่ที่โรงเรียนปลูกไว้จะโดนพักการเรียน

ในขณะที่งบประมาณประจำทีมไม่เพียงพอ เพราะไม่คาดคิดว่าจะเข้าถึงรอบลึก ๆ ได้ ต้องขอรับบริจาคจากผู้คนในเมือง ทำให้แฟน ๆ ชาวญี่ปุ่นต่างเทใจหันมาเชียร์ ทีมคานาอาชิฯ ทีมรองบ่อนจึงกลายเป็นพระเอก โดยไม่รู้ตัว และแม้ว่าผลการแข่งขันทีมโอซากา โทอิน จะคว้าแชมป์ได้เป็นสมัยที่ 5 แต่เสียงชื่นชมจากแฟน ๆ ชาวญี่ปุ่นยังคงไม่จบสิ้น กลายเป็นทีมขวัญใจที่อยู่ในใจของชาวญี่ปุ่นจนถึงทุกวันนี้ (1)

ไม่เพียงแค่ในแวดวงกีฬา แต่ในแวดวงอื่น ไม่ว่าจะเป็นวงการการเมือง ธุรกิจ หรือสถานศึกษา ผู้เสียเปรียบหรือตกอยู่ในภาวะรองบ่อน มักจะมีผู้เทใจให้เสมอ เช่น ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในปี 1980 เมื่อผลการหยั่งเสียงพบว่า ประธานาธิบดี “จิมมี คาร์เตอร์” มีคะแนนนำ “โรนัลด์ เรแกน” ผู้ท้าชิง ปรากฏว่า ผ่านไปไม่ถึง 1 สัปดาห์ คะแนนเสียงกลับสะวิงมาทางโรนัลด์ เรแกน จนได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 40

ซึ่งผู้ลงคะแนนส่วนหนึ่งยอมรับว่าเหตุผลที่ลงคะแนนให้กับประธานาธิบดีเรแกน เพราะความสงสาร เห็นอกเห็นใจ และต้องการให้ผู้ที่ตกเป็นรองได้รับชัยชนะ (2)

เหตุใดเราจะมักเลือกที่จะเชียร์ทีมรองบ่อนหรือผู้ที่อยู่ในภาวะเสียเปรียบ หรือด้อยในสังคม ศาสตราจารย์อาซิม ชาห์ (Asim Shah) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเบย์เลอร์ อธิบายว่า มนุษย์มักเลือกเชียร์ทีมรองบ่อนเพราะสามารถนำชีวิตตนเองไปเปรียบเทียบ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคเพื่อให้ประสบความสำเร็จในชีวิต (3)

เหตุผลที่สอง ที่คนชอบเชียร์ทีมรองบ่อนคงเป็นเพราะ “ความสะใจ” ที่เรามีความสุขบนความทุกข์ของผู้อื่น เป็นอารมณ์ที่ทางจิตวิทยา เรียกว่า “ชาเดนฟรอยด์” (schadenfreude) มาจากภาษาเยอรมัน 2 คำรวมกัน ประกอบด้วย schaden (ความเสียหาย) และ freude (ความสุข) หมายถึง “รู้สึกมีความสุข เมื่อเห็นคนอื่นผิดพลาด ล้มเหลว และรู้สึกเป็นทุกข์ เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีกว่า”

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือการที่ดารา หรือผู้มีชื่อเสียงต่าง ๆ ถูกนิตยสารนำเรื่องมาซุบซิบ นายแพทย์สมิธและเคธี โบรชัวร์ ได้วิเคราะห์ข่าวในนิตยสาร National Enquirer เป็นเวลา 10 สัปดาห์ พบว่า “ยิ่งดารามีชื่อเสียงมากเท่าไหร่ บทความต่าง ๆ ก็ยิ่งจะได้รับความสนใจเรื่องโชคร้ายของพวกเขามากขึ้นเท่านั้น” เพราะถือเป็นช่วงอารมณ์ schadenfreude ที่เราจะยิ่งพึงพอใจมากขึ้น เมื่อเห็นคนมีชื่อเสียงเหล่านั้นกำลังทำลายภาพลักษณ์ตัวเอง (4)

เหตุผลสุดท้ายมาจากผลวิจัยของ “นาดาฟ โกลด์ชมิดท์” แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แซนดีเอโก และ “โจเซฟ แวนเดลโล่” แห่งมหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดา ที่ค้นพบว่า คนส่วนใหญ่มักจะมีความสุขเมื่อได้เห็นความสำเร็จจากเรื่องที่ไม่ได้คาดหวังมาก่อน และในทางกลับกันมนุษย์จะเจ็บปวดเป็นทวีคูณเมื่อผิดหวังจากสิ่งที่คาดหวังไว้

จึงทำให้เราเชียร์ทีมที่เป็นรองโดยไม่รู้ตัว เพราะหากทีมที่เป็นรองชนะ เราจะเปี่ยมไปด้วยความสุข แต่หากพวกเขาพ่ายแพ้ เราก็แทบจะไม่รู้สึกผิดหวัง และยอมรับได้ เพราะเป็นเรื่องที่คาดเดาไว้แล้ว เรียกว่าเลือกเชียร์ทีมรองบ่อน ไม่มีอะไรจะสูญเสีย

อย่างไรก็ดี การเชียร์ทีมรองบ่อนย่อมมีขอบเขตจำกัด “สก็อต อลิสซัน” แห่งมหาวิทยาลัยริชมอนด์ สรุปไว้ว่าในชีวิตจริง หากการเชียร์ทีมรองบ่อนกระทบกับตัวเราโดยตรง การสนับสนุนย่อมจะลดน้อยลง เช่น ในการประมูลทดสอบน้ำเสียของเมืองบอยซี มลรัฐไอดาโฮ สหรัฐอเมริกา ตอนแรกชาวเมืองเทใจให้กับบริษัทจัดตั้งใหม่ได้สัมปทานแทนบริษัทเดิมที่ก่อตั้งมายาวนานหลายสิบปี เพราะเห็นว่าบริษัทใหม่แห่งนั้นมีผู้บริหารรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่น แม้ว่าเงินทุน และประสบการณ์จะสู้ไม่ได้ก็ตาม

แต่เมื่อค้นพบว่าการทดสอบน้ำเสียจะครอบคลุมการค้นหาสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง จำเป็นต้องเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ ทำให้ชาวเมืองบอยซีเปลี่ยนใจ หันกลับมาสนับสนุนให้บริษัทเดิมชนะการประมูล (2)

การหันมาเชียร์ทีมรองบ่อนสามารถเกิดได้จากทั้ง 3 เหตุผลข้างต้น แต่สำหรับผมแล้ว การเชียร์ทีมรองบ่อนช่วยให้เราได้เรียนรู้ว่าเราเริ่มต้นด้วยต้นทุนที่ไม่เท่ากัน แต่หากเรามุมานะ สู้ไม่ถอย ไม่เกรงกลัวต่ออุปสรรคข้างหน้า เราจะก้าวเดินไปถึงจุดเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ และแม้ว่าผลลัพธ์ที่ได้รับอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่ตั้งใจไว้ แต่เราสามารถพูดได้อย่างภาคภูมิใจว่า “ได้ทำเต็มที่แล้ว และจะสู้ต่อไปโดยไม่ท้อแท้”

 

แหล่งที่มา : 1/ Mainstand.co.th. 2022. สะใจ หรือ เห็นใจ ? : ทำไมแฟนกีฬามักชอบเชียร์ทีมรองบ่อน

2/www.vox.com/2015/3/20/8260445/underdogs-psychology

3/https://www.bcm.edu/news/why-we-root-for-underdog

4/Mission To The Moon Media. 2022. “Schadenfreude”, ผิดไหมที่มีความสุขเมื่อเห็นคนอื่นทุกข์