“สร้างท้องถิ่นเข้มแข็ง” โจทย์ท้าทาย

บทบรรณาธิการ

สัญญาณบวกเศรษฐกิจไทยเริ่มผงกหัวขึ้นมีออกมาต่อเนื่อง กลางสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ปรับตัวเลขคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศไทยปีนี้ จาก 3.5% เป็น 3.8% ขณะเดียวกันก็ปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีในปี 2561 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 3.6% เป็น 3.8%

สอดคล้องกับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รวมทั้งมุมมองของนักวิเคราะห์หลายสำนักที่ฟันธงว่า แนวโน้มเศรษฐกิจมีทิศทางเป็นบวกชัดเจนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนจากหลายภาคส่วน กับสภาพความเป็นจริงที่มิอาจปฏิเสธได้ว่า ลึก ๆ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังกระจุกไม่เกิดการกระจาย อานิสงส์จากการเติบโตของจีดีพียังลงไปไม่ถึงท้องถิ่นชุมชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย คนจน เกษตรกร

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างจังหวัดด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินลงในพื้นที่ ซึ่งล่าสุด มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทรวงมหาดไทย เป็นแกนหลักขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจในชุมชน อาทิ พัฒนาถนนหนทาง แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ โดยใช้เงินสะสมของ อปท.กว่า 1 แสนล้านบาท เป็นหนึ่งในหลายมาตรการที่รัฐบาลกำลังเร่งเดินหน้า

ควบคู่กับแผนสร้างอาชีพสร้างรายได้เสริม ด้วยการบูมการท่องเที่ยวชุมชนให้เห็นผลใน 3-6 เดือน โดยเน้นส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ๆ ในท้องถิ่น ชุมชนตามหัวเมืองรองทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จากที่ผ่านมาโฟกัสไปที่เมืองหลัก และเมืองท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่
ถือเป็นการกระจายรายได้ตรงให้ถึงมือประชาชนในพื้นที่

เหมือนกับยุคที่นักการเมือง พรรคการเมือง กุมอำนาจบริหารจัดการประเทศ ต่างกันเพียงยุคนี้รัฐบาลอาศัยกลไกราชการเป็นตัวจักรสำคัญในการแปรโครงการ แผนงาน ไปสู่การปฏิบัติการปรับโหมดนโยบายปิดจุดอ่อนด้านเศรษฐกิจ โดยพุ่งเป้าพลิกสถานะชุมชนทีอ่อนแรงให้กลับมาฟื้น

ดูแลเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย เอสเอ็มอี สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากในต่างจังหวัดช่วงจากนี้ไปจนถึงปีหน้า จึงถือเป็นงานใหญ่ที่หน่วยงานรัฐต้องเร่งผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย

แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องอาศัยการรวมพลังทุกฟันเฟือง จึงจะแก้โจทย์ใหญ่ทั้งหมดนี้ให้สำเร็จได้ แต่เป็นภารกิจที่ท้าทาย และจะเป็นเครื่องพิสูจน์ในตัวว่า รัฐบาลมีความสามารถในการบริหารจัดการนโยบายให้เป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน หรือยังเป็นนโยบายวาดฝันอยู่ในแผ่นกระดาษ