โรคเคราะห์กรรม คดีแอชตัน อโศกฯ

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : เมตตา ทับทิม

เซอร์ไพรส์เกิดขึ้นแน่นอน สำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคดี “แอชตัน อโศก สุขุมวิท 21”

ถ้าหากศาลปกครองสูงสุดเร่งรัดกระบวนการพิจารณาคดีแอชตัน อโศกฯ ให้จบภายในปี 2565 เพราะความเข้าใจของภาคประชาชน-ภาคเอกชน มักได้รับคำบอกเล่าจากทนายความที่ปรึกษาว่า ขั้นตอนและเวลาในการพิจารณาคดีตามปกติต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3-4 ปี

ทั้งนี้ คดีที่สะเทือนวงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยมากที่สุด เพราะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ก็คือคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง และให้มีผลย้อนหลัง

ADVERTISMENT

สร้างแรงกระเพื่อมระดับสึนามิสำหรับภาคประชาชนที่พลัดหลงเข้ามาเกี่ยวข้องโดยไม่ตั้งใจ และมีจำนวนไม่ใช่น้อย หากแต่มีถึง 600 กว่าห้องชุด หรือ 666 ครอบครัว ที่มีการซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแอชตัน อโศกฯ ก่อนจะมีคำพิพากษา

หลังจากนั้น คอนโดฯบนทำเลใจกลางเมืองที่มียอดขายแล้ว 85% เหลือขายอีก 15% น่าจะใกล้ขายหมดเพื่อปิดโครงการ แต่หลังจากมีคดีเกิดขึ้น ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

พิจารณาจากไทม์ไลน์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซื้อที่ดินขนาด2-3-47.6 ไร่ หรือ 1,147.6 ตารางวา หรือ 4,590.4 ตารางเมตร

ADVERTISMENT

โดยซื้อรวบรวมจาก 3 แปลง ได้แก่ โฉนดที่ดินเลขที่ 2452 เลขที่ดิน 2120 โฉนดที่ดินเลขที่ 2451 เลขที่ดิน 2122 และโฉนดที่ดินเลขที่ 2345 เลขที่ดิน 2160

การซื้อขายที่ดินจบในปี 2557 และได้รับใบอนุญาตใช้ที่ดิน รฟม. (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) เป็นทางผ่านเข้า-ออกคอนโดฯในปีเดียวกัน

ADVERTISMENT

ปี 2559 สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน +15 คน ฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง

ปี 2561 ก่อสร้างเสร็จ และเริ่มโอนห้องชุดห้องแรกให้กับประชาชน ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2561

ไคลแมกซ์อยู่ที่ปี 2564 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 หรือเท่ากับมีคำพิพากษาหลังจากได้เริ่มทยอยโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อรายย่อย 3 ปี 1 เดือน

จุดนี้จึงสร้างแรงกระเพื่อมระดับสึนามิสำหรับภาคประชาชน 600 กว่าครอบครัวที่พลัดหลงเข้ามาเกี่ยวข้องโดยไม่ตั้งใจ

ณ เดือนมีนาคม 2565 “ประชาชาติธุรกิจ” ติดตามความคืบหน้าคดีแอชตัน อโศกฯ ในวาระที่เวลาผ่านมาแล้ว 7 เดือน

พบว่า ในมุมผู้บริโภค 600 กว่าครอบครัว จากคำให้สัมภาษณ์ของกรรมการนิติบุคคลแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 บางคนซึมเศร้า หลายคนจิตตก ไม่สามารถทำธุรกรรมการเงินใด ๆ กับสถาบันการเงินได้ จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด

เจ้าของห้องชุดถูกทำให้เข้าใจว่า ภาวะซึมเศร้า-จิตตกอาจต้องใช้เวลารอคอยไม่ต่ำกว่า 3-4 ปี หมายความว่าอาจต้องรอคอยไปถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ถึงปี 2568

ในที่สุดก็มีข่าวดีเกิดขึ้นมาบ้าง ทางประธานศาลปกครองสูงสุด “ชาญชัย แสวงศักดิ์” กับรองประธานศาลปกครองสูงสุด “สุชาติ มงคลเลิศลพ” ทั้ง 2 ท่านให้ความกรุณาตอบทุกคำถามของผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา

โดยศาลปกครองสูงสุดรับทราบว่า คดีแอชตัน อโศกฯ เป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจสูง จึงได้บริหารจัดการและใช้ความพยายามที่จะให้มีคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดภายในปี 2565 นี้

หากนับไทม์ไลน์กันอีกที คำพิพากษาศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) เกิดขึ้น 30 กรกฎาคม 2564 กระบวนการยื่นอุทธรณ์และมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด (เมื่อตัดสินแล้วถือเป็นสิ้นสุด)

หากทำให้จบในปี 2565 เท่ากับว่าคดีแอชตัน อโศกฯ ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองทั้ง 2 ศาล (ศาลปกครองกลาง กับศาลปกครองสูงสุด) จะจบภายใน 17 เดือน ไม่ต้องรอนาน 3-4 ปี หรือรอนาน 36-48 เดือน

ในมุมผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของห้องชุด 600 กว่าห้อง เวลาที่สั้นลงเหลือ 17 เดือน ย่อมมีความหมายอย่างเป็นพิเศษ แม้คำพิพากษาจะออกมาในทิศทางใด อย่างน้อยที่สุดก็น่าจะสามารถเยียวยาภาวะซึมเศร้า-จิตตก

ซึ่งโรคเคราะห์กรรมเหล่านี้ไม่อาจประเมินมูลค่าความเสียหายทางจิตใจได้แต่อย่างใด