เลือกตั้ง 2 เมืองเศรษฐกิจ

เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. คาดอาทิตย์ที่ 29 พ.ค. หลังวันครบรอบรัฐประหาร 8 ปี
บทบรรณาธิการ

กำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายกเมืองพัทยา เป็นวันเลือกตั้งวันเดียวกันคือ วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 ซึ่งถูกมองว่าสะกิดใจทางการเมืองอย่างจัง เพราะตรงกับวันรัฐประหาร เมื่อปี 2557 ซึ่งกระทบต่อพัฒนาการทางประชาธิปไตยของไทย รวมถึงทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นของเมืองเศรษฐกิจหลักทั้งสองของประเทศร้างราจากการเลือกตั้งมานับแต่นั้น

กรุงเทพฯ หรือแบงค็อก ซึ่งคนทั่วโลกรู้จัก เป็นศูนย์กลางเกือบทุกเรื่องในประเทศ ทั้งด้านการผลิต การขนส่ง การสื่อสาร และมีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจสูงสุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ความเป็นเมืองหลวงและเมืองเศรษฐกิจที่มีประชากร 10 ล้านคน จึงรวมทุกปัญหาของเมืองไว้อย่างหนาแน่น ทั้งมลพิษทางสิ่งแวดล้อม น้ำรอระบาย ดินทรุด ผังเมืองตามการขยายตัวไม่ทัน การจราจร ความเหลื่อมล้ำ หรือแม้แต่รถไม่จอดให้คนข้ามตรงทางม้าลาย

เฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ข้อมูลจากกลุ่มเอ็นจีโอระบุว่า กรุงเทพฯมีผู้เสียชีวิตจากผลกระทบมลพิษทางอากาศ 9,700 ราย ในปี 2564 เป็นมูลค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 1.25 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 4.9 ของจีดีพี ส่วนอีกกลุ่มชี้ว่า กรุงเทพฯเป็นเมืองที่เสี่ยงต่อการจมเป็นอาณาบริเวณกว้าง ภายในปี 2573 เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามผลกระทบของภาวะโลกร้อน คิดเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 96 ของจีดีพี

สำหรับพัทยา มีชื่อเสียงระดับอินเตอร์จากอุตสาหกรรมทางเพศ ความบันเทิงยามราตรี ปัจจุบันเพิ่มเป็นเมืองสำคัญในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี

พัทยาเผชิญปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและขยะ เช่นเดียวกันกับเมืองท่องเที่ยวทางทะเลอื่น ๆ กระทั่งช่วงโควิด-19 ระบาด ที่บีบให้การท่องเที่ยวต้องหดตัว ทำให้สภาพสิ่งแวดล้อมเริ่มดีขึ้น แต่ในระยะยาวเรื่องนี้ยังเป็นโจทย์ใหญ่ของเมือง

ก่อนเกิดสถานการณ์โรคระบาด สถิติเมื่อปี 2561 พัทยาเคยมีนักท่องเที่ยว 14 ล้านคน ทำรายได้เกือบ 2.4 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ถึงร้อยละ 70

แผนสร้างพัทยายุคใหม่ คือลดการพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวให้ลงอยู่ที่สัดส่วนร้อยละ 60 ภายในปี 2568 และปรับเมืองไปสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจนานาชาติ

ด้านผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. มีโจทย์อยู่ที่การแก้ปัญหามากมายภายใต้อำนาจที่จำกัดตามกฎหมาย และต้องแสดงวิสัยทัศน์ปรับปรุงคุณภาพให้คนกรุงเทพฯ ด้วยการบริหารจัดการงบฯเกือบ 8 หมื่นล้านบาท

การเลือกตั้งของกรุงเทพฯและพัทยาแม้เป็นการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้น แต่นโยบายด้านเศรษฐกิจน่าจะเป็นตัวตัดสินว่าใครควรเป็นผู้นำของเมือง