สงครามรัสเซีย-ยูเครน ไทยตั้งรับ “วิกฤตซ้อนวิกฤต”

รัสเซียปฏิเสธถล่มโรงพยาบาลยูเครน
Military/Handout via REUTERS
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กษมา ประชาชาติ

ลำพังแค่วิกฤตโควิด-19 ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็สร้างความเสียหายยากที่จะประเมินได้อยู่แล้ว ยิ่งมาประสบกับ “วิกฤตซ้อนวิกฤต” สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยิ่งทุบซ้ำเศรษฐกิจทั่วโลกจนแทบนึกภาพไม่ออกว่าจะต้องใช้เวลาอีกกี่ปีกว่าจะฟื้น

ย้อนกลับไปเมื่อ 83 ปีก่อน ทั่วโลกต้องเผชิญกับ “สงครามโลกครั้งที่สอง” กินเวลาถึง 6 ปี (ปี 1939-1945) เป็นสงครามที่มีทหารกว่า 100 ล้านนาย จากกว่า 30 ประเทศเข้าร่วมโดยตรง นับเป็นสงครามขนาดใหญ่ที่สุด ใช้เงินทุนมากที่สุด 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีผู้เสียชีวิตสูงสุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ 50-85 ล้านคน (https://th.m.wikipedia.org/wiki/สงครามโลกครั้งที่สอง:2565)

“สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ครั้งนี้แม้จะเกิดในพื้นที่จำกัดเพียง 2 ประเทศ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นเพียง 2 สัปดาห์นับได้ว่าสร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกแล้ว

รัสเซีย-ยูเครนถือว่าเป็นแหล่งผลิตทรัพยากรสำคัญ อย่างน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ปุ๋ย ธัญพืช และเหล็ก ซึ่งเป็นวัตถุดิบในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม

สำหรับประเทศไทยแล้วสถานการณ์ความขัดแย้งนี้กระทบต่อภาคการส่งออกไม่มากนัก เพราะสัดส่วนการค้ากับ 2 ประเทศนี้มีไม่ถึง 1% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด

แต่วิกฤตนี้สร้างความเสียหายต่อไทยอย่างรุนแรง จาก “ต้นทุนพลังงาน” สูงขึ้นทั้งราคาน้ำมันดิบที่เกินกว่า 125 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สูงสุดในรอบ 14 ปี และราคาก๊าซธรรมชาติสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ กระทบต้นทุนค่าไฟฟ้าและต้นทุนค่าขนส่ง

ไม่เพียงเท่านั้น ความขัดแย้งนี้ยังสะเทือนมาถึง “ราคาสินค้าเกษตรอาหาร” เพราะไทยนำเข้าปุ๋ยประมาณ 5 ล้านตันต่อปี หากต้นทุนปุ๋ยของภาคเกษตรเพิ่มขึ้น เกษตรกรอาจจะใส่ปุ๋ยน้อยลง เมื่อผลผลิตลดลงแม้ว่าราคาสินค้าเกษตรจะสูงแต่รายได้เกษตรกรจะหายไป และอาจกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร

“ภาคปศุสัตว์” ประสบปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด ข้าวสาลีปรับตัวสูงขึ้น นำมาสู่ปัญหาเนื้อสัตว์มีราคาแพง

“ภาคอุตสาหกรรม” ที่ต้องใช้วัตถุดิบสินแร่ต่าง ๆ อาจจะขาดแคลนและราคาสูงกระทบการผลิต และสุดท้าย “ประชาชน” ก็ต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น ปัญหาเงินเฟ้อตามมา ล่าสุดกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) คาดว่าวิกฤตนี้ อาจทำให้เงินเฟ้อไทยในปี 2022 สูงขึ้นเกิน 4% สูงที่สุดในรอบ 14 ปี การบริโภคชะลอตัวลง

และยิ่งสงครามนี้ยืดเยื้อ รัสเซียใช้อาวุธเคมี นั่นอาจทำให้กองกำลังสนธิขององค์การสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ ตัดสินใจใช้กำลังทหารแทรกแซง ผลที่ตามอาจทำให้ราคาน้ำมันดิบทะลุ 200 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลรัสเซียถูกใช้มาตรการคว่ำบาตร ส่วนยูเครนต้องเร่งฟื้นฟูประเทศจากสงคราม

แล้วไทยต้องเตรียมตัวอย่างไรรับมือวิกฤตซ้อนวิกฤตในครั้งนี้ ภาคเกษตรต้องผลิตพืชที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ภาคพลังงานต้องเร่งพลังงานทดแทนให้เร็วขึ้น ภาคประชาชนต้องประหยัดพลังงาน ?