หลายหนี้ฉุดรั้ง

ลูกหนี้-NPL-SMEs-หนี้เสีย
บทบรรณาธิการ

ระหว่างที่ภาคเอกชนและประชาชนพยายามฟื้นคืนเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงเปิดประเทศและปูทางสู่การประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ปัญหาอมตะที่คอยฉุดรั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจคือเรื่องหนี้

กรณี 4 ธนาคารพาณิชย์ไทยถูกบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ปรับลดความน่าเชื่อถือลง อาจไม่ได้ส่งผลชัดเจนต่อประชาชนทั่วไป อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยันฐานะการเงินแบงก์ไทยยังแข็งแกร่ง ไทยมีเงินสำรองอยู่ที่ 8.9 แสนล้านบาท หรือกว่า 1.6 เท่าของสินเชื่อด้อยคุณภาพ

แต่ด้วยเหตุผลการปรับลดที่ระบุว่า หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มสูงขึ้น และยอดหนี้เสียในภาคการธนาคารจะเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่น่าหวั่นใจ

ตัวเลขจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่าถึง 14.35 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 89.3 ต่อจีดีพี

แม้รัฐบาลกำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน โดยออกมาตรการต่าง ๆ เช่น การจัดการกับกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา มุ่งแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการโดยเฉพาะครูและตำรวจ รวมถึงการเพิ่มช่องทางเข้าถึงสินเชื่อในระบบให้กับลูกหนี้นอกระบบ

แต่หนี้ครัวเรือนนอกระบบยังมีอีกมาก ยิ่งมีการให้บริการเงินด่วนทางออนไลน์ได้ง่าย หนี้นอกระบบยิ่งเติบโตมาก

ถึงแม้เจ้าหน้าที่รัฐจะจับกุมเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายเกินหมื่นคน ช่วง 5 ปี ถึงปี 2564 แต่หากไม่อาจตรวจสอบว่ายังมีเจ้าหนี้ลักษณะนี้อีกมากเท่าใด จะทำให้การแก้ไขไล่ตามหนี้ที่เพิ่มขึ้นไม่ทัน

ก่อนหน้านี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ว่า สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้โดยเฉลี่ยของครัวเรือนไทยอยู่ในจุดใกล้เส้นยาแดงที่ระดับร้อยละ 30 มาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด ปี 2562

กระทั่งช่วงวิกฤตโควิด 2 ปีมานี้ เศรษฐกิจไทยถูกกระทบรุนแรง รายได้ครัวเรือนหายไปมาก ยิ่งเกิดสถานการณ์ราคาพลังงานพุ่งสูงจากศึกรัสเซีย-ยูเครนซ้ำเติม ยิ่งส่งผลทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ราคาสินค้าสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวลง

ขณะนี้ประชาชนจำเป็นต้องกู้ยืมเพื่อพยุงกำลังซื้อและรักษาระดับการบริโภค สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้โดยเฉลี่ยจึงปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วเกินระดับ 30

ส่วน S&P ประเมินความเสี่ยงเชิงระบบของธนาคารไทยว่า อาจส่งผลให้หนี้เสียของธนาคารมีโอกาสเพิ่มขึ้นไปที่ระดับร้อยละ 5 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 3 ในอีก 24 เดือนข้างหน้า ซึ่งถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551

หลากหลายการก่อหนี้จึงอาจเปลี่ยนบทบาทจากการ กระตุ้น สู่การฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ