ปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจ

ธนาคารรัฐ-เอกชน แห่อุ้มลูกหนี้รายย่อย-ออกมาตรการเฟส 2
บทบรรณาธิการ

ถ้าดูวิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกาที่ทำให้ประชาชนลุกฮือประท้วงจนรัฐบาลสั่นคลอนขณะนี้ อาจคาดการณ์ได้ว่าประเทศไทยคงไปไม่ถึงขั้นนั้น เพราะไม่ได้ขาดแคลนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือถึงขั้นขาดไม่มีเงินนำเข้าสินค้าที่จำเป็น ขาดแคลนอาหาร และยารักษาโรค ส่วนจะเป็นแบบเกาหลีใต้ที่ดัชนีราคาสินค้าอุปโภคบริโภคพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปีหรือไม่ ยังประมาทไม่ได้ ที่เกิดขึ้นแล้วคือความเป็นอยู่ของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มที่พึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐ ลำบากมากขึ้น และมีหนี้พอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ

ตัวเลขหนี้สาธารณะที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเพิ่งเผยแพร่ อยู่ที่ระดับสูงถึงร้อยละ 60.17 ต่อจีดีพี ณ วันที่ 28 ก.พ. 2565 คิดเป็นมูลค่ากว่า 9.8 ล้านล้านบาท สัดส่วนเกือบทั้งหมดเป็นหนี้ในประเทศถึงร้อยละ 98.22 ซึ่งรัฐบาลกู้โดยตรงมาแล้ว 8 ล้านล้านบาท และหนี้ต่างประเทศอีกร้อยละ 1.78 มีตัวเลขคาดการณ์ด้วยว่า สิ้นปีงบประมาณ 2565 หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 62 ภายใต้สมมุติฐานจีดีพีขยายตัวได้ร้อยละ 3.5-4.5

สัดส่วนหนี้ดังกล่าวแม้ยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง ที่กำหนดไว้ไม่ให้เกินร้อยละ 70 ต่อจีดีพี แต่ไม่ใช่สถานการณ์ที่จะสบายใจได้ ยิ่งเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยคงค้าง ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 14.58 ล้านล้านบาท เป็นระดับทะลุร้อยละ 90 ขึ้นมาที่ระดับร้อยละ 90.1 เนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังเติบโตช้า ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนขยับสูงขึ้น

ความน่ากังวลเหล่านี้สอดคล้องกับความเห็นของบรรดาอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติที่ร่วมเสวนาในโอกาสครบรอบ 80 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่วิตกกับสถานการณ์การเงินการคลัง ด้วยเห็นว่ามีงบประมาณขาดดุลติดต่อกันมายาวนาน และภาระหนี้สูงขึ้นเรื่อย ๆ การเดินหน้าใช้นโยบายประชานิยม จนดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา ทำให้ใช้เงินไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ว่าการขาดดุลควรต้องมีขอบเขตประมาณใด

คำแนะนำจากเวทีนี้คือแบงก์ชาติต้องดำเนินนโยบายเข้มงวด แม้จะมีคนไม่ชอบ แต่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพราะแบงก์ชาติคือด่านสุดท้ายที่จะช่วยต้านทานไม่ให้เศรษฐกิจดิ่งลงเหว นอกจากนี้ยังมีมุมมองว่า ปัญหาใหญ่ขณะนี้เป็นเรื่องการเมืองการปกครองของประเทศ และเป็นเรื่องระบบ ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าการปกครองไม่ดี จึงควรต้องคิดใหม่และต้องปฏิรูปกันใหม่

มุมมองดังกล่าวสะท้อนถึงกระแสเรียกร้องจากกลุ่มประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง แต่มักถูกรัฐบาลตีความว่าสร้างความขัดแย้ง ทั้งที่การเมืองต้องเปิดกว้างให้คนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการปฏิรูปทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ ไม่ล็อกอยู่ในกติกาที่ออกแบบให้ใครอยู่ต่อได้หากประชาชนเห็นว่ารัฐบาลเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาและทำให้ปัญหาเศรษฐกิจบานปลาย