ฝ่าวิกฤตซ้อนวิกฤต ทางออกไม่ได้มีแค่ทางเดียว

คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กษมา ประชาชาติ

 

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2565 ไทยต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มสูงขึ้น 182,767 ราย ทำให้ไทยก้าวขึ้นสู่ประเทศที่มีอัตราการแพร่ระบาดสูงสุดอันดับ 9 ของโลก เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา

ซ้ำเติมด้วยข่าวร้าย ธนาคารโลกปรับลดประมาณการจีดีพีไทยปี 2565 ลงเหลือ 2.9% จากที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนธันวาคม (2564) ที่ระดับ 3.9% จากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ตลอดจนผลกระทบต่อต้นทุนราคาพลังงานและการใช้วัตถุดิบที่นำเข้าจากรัสเซีย-ยูเครน

ไม่ใช่เท่านั้น ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 13 ปี หลังจากพบว่าเงินเฟ้อในเดือนมีนาคม 2565 เพิ่มขึ้น 5.73% จากการปรับขึ้นราคาน้ำมัน ค่าไฟ และอาหาร

โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ คาดแนวโน้มเงินเฟ้อไทยจะยังสูงต่อเนื่อง หลังผลกระทบจากสงคราม ก๊าซหุงต้ม น้ำมัน ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงขึ้น จึงปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2565 ใหม่ เป็น 4-5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 0.7-2.4%

ตามสมมติฐานจากว่าจีดีพีจะโต 3.4-4.5% น้ำมันดิบดูไบ 90-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ความรุนแรงของวิกฤตโควิดบวกกับวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศไทยต้องหามาตรการที่จะขับเคลื่อนประเทศฝ่าวิกฤตซ้อนวิกฤตไปให้ได้

ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ครั้งล่าสุดได้มีข้อเสนอให้ภาครัฐปรับมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยปลดล็อกเรื่องการตรวจสอบเพื่อดึงรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามาเสริมจากเดิมที่ไทยมีเครื่องจักรส่งออกที่เป็นพระเอกอยู่

แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์เพียง 3-5%

ขณะที่รายได้จากภาคการลงทุนก็ยังไม่เห็นสัญญาณที่ชัดเจน ส่วนเครื่องจักรการบริโภคภายในประเทศก็มีสัญญาณชะลอตัวลงอย่างมาก จากแรงกดดันเรื่องหนี้ ปัญหาราคาสินค้าที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น

จากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่เริ่มส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าโดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเกษตรและอาหาร ซึ่งต้องพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าทั้งปุ๋ยและวัตถุดิบ เพื่อผลิตอาหารสัตว์

ทั้งยังต้องเผชิญกับแรงกดดันของค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งค่าขนส่งระหว่างประเทศ ค่าขนส่งภายในประเทศ เป็นแรงซ้ำเติมทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าอย่างแน่นอนในไตรมาสที่ 2 เพราะไม่เช่นนั้น ผู้ประกอบการเองก็อาจจะไม่สามารถแบกรับภาระนี้ต่อไปได้เช่นกัน

ดังนั้น การช่วยเหลือประชาชนเพื่อผ่านพ้นวิกฤต ทางภาคเอกชนจึงเสนอให้รัฐบาลขยายโครงการคนละครึ่งเฟส 5 โดยเพิ่มวงเงินเป็นคนละ 1,500 บาท

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า มาตรการอัดฉีดทางเศรษฐกิจอย่างเดียวอาจจะยังไม่พอในการกู้วิกฤตซ้อนวิกฤตในครั้งนี้ สิ่งสำคัญ ไทยควรจะมองข้ามชอตจากการแก้ไขวิกฤตระยะสั้นให้เป็นโอกาสระยะยาว ที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

ทั้งยังต้องสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิต และการมีชีวิตอยู่ต่อไปในอนาคต

ซึ่งขั้นแรกก่อนที่จะผ่านพ้นวิกฤตไปได้ จำเป็นต้องเข้าใจถึงวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่ก่อน เช่น หากวิกฤตนั้นเกิดจากการขาดเงิน ก็ต้องแก้ด้วยการหาเงิน โดยต้องดูรายได้ว่ามาจากแหล่งใดได้บ้าง มาได้เร็วหรือมาช้า หากยาดีที่มาช้าอาจจะแก้วิกฤตไม่ทัน คนที่รอรายได้ก็รอไม่ไหว ธุรกิจสายป่านสั้นจะตายก่อน

แต่หากวิกฤตนั้นเกิดจากการขาดแคลนสินค้า ก็ต้องหาสินค้าทดแทน เช่น ปุ๋ย ซึ่งอาจปรับไปนำเข้าจากแหล่งอื่นแทนรัสเซีย หรือหากผลิตขึ้นมาเอง ถือเป็นโอกาสในการพัฒนาปุ๋ยชีวภาพ หรือแม้แต่การพัฒนาการปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ทดแทนกันได้หรือไม่ได้ ชดเชยได้มากหรือน้อย ชดเชยได้เร็วหรือช้า

รัฐต้องไม่แก้เฉพาะปัญหาวันนี้ ต้องมองถึงอนาคต ทำอย่างไรจะพึ่งพาตัวเองได้และสื่อสารภาวะวิกฤตให้ชัดเจน

แน่นอนว่าการแก้ปัญหาวิกฤตนั้นไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ต้องอยู่บนหลักคิดที่ว่า “ปัญหาทุกปัญหาก็ไม่ได้มีทางออกเพียงทางเดียว” หากพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีทั้งหมดที่มีอยู่แล้วยังหาทางออกไม่ได้ สุดท้ายอาจต้องเปลี่ยน “คนแก้ปัญหา”