โอกาสลงทุน 3 ประเทศเด่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม รัฐหนุนกระตุ้นเศรษฐกิจ

ธงชาติ จีน เวียดนาม
คอลัมน์ : สถานีลงทุน
ผู้เขียน : ณัฐพร ธรวงศ์ธวัช ธนาคารทิสโก้

ภาพรวมการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา นับว่ามีความผันผวนสูงจากประเด็นอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน อย่างไรก็ตาม เรามองว่าตลาดหุ้นโดยรวมได้ตอบรับต่อประเด็นเหล่านี้ไปมากแล้ว และคาดว่าจะได้เห็นภาพการฟื้นตัวในช่วงหลังจากนี้

ประเด็นเงินเฟ้อและสงครามสร้างแรงกดดันให้ทั้งตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงจนระดับ valuation ของหลายประเทศกลับมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ

ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนจากตลาดหุ้นกับพันธบัตรรัฐบาล หรือ earning yield gap (EYG) ซึ่งเป็นผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากการลงทุนในตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงกว่าพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้น 69 bps ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ในอดีต เช่น เหตุการณ์ 9/11 ที่ earning yield gap ปรับขึ้น 78 bps และช่วงการผนวกไครเมียโดยรัสเซียปี 2014 earning yield gap ปรับเพิ่มขึ้น 54 bps

ทำให้เรามองว่าการปรับตัวลงตลาดหุ้นในช่วงนี้ได้ซึมซับรับข่าวไปมากแล้ว

ช่วงนี้นับเป็นโอกาสสำคัญในการเลือกลงทุนในกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจในราคาที่ต่ำลงได้อีกครั้ง

โดยตลาดหุ้นที่เรามองว่าน่าสนใจ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม จากระดับ valuation ที่ใกล้เคียง หรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี

โดย ณ วันที่ 23 มีนาคม Fwd P/E ของ NIKKEI225 อยู่ที่ 15.5 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี ซึ่งอยู่ที่ 16.6 เท่า CSI 300 ของจีน อยู่ที่ 12.2 เท่า ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย 10 ปี ที่ 11.8 เท่า และเวียดนามอยู่ที่ 13.2 เท่า ระดับเดียวกับค่าเฉลี่ย 10 ปี

ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐ โดย S&P 500 มี Fwd P/E ที่ 19.4 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี ที่ 17 เท่า ส่วนดัชนี STOXX 600 ของยุโรป แม้จะมีระดับ Fwd P/E ที่ 13.9 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี ที่ 14.4 เท่า แต่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อตลาดหุ้นยุโรปในระยะถัดไป

เนื่องจากสงครามได้หนุนให้ราคาพลังงานในยุโรปปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของยุโรปมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น และมีโอกาสที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเริ่มดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดเร็วขึ้นกว่าเดิมเพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม ยังมีทิศทางการใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายสวนทางกับสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่มีแนวโน้มการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดขึ้น

โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำและใช้มาตรการ yield curve control ควบคุมการปรับตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ซึ่ง BOJ มีนโยบายจะเข้าซื้อพันธบัตรเพิ่มอย่างไม่จำกัด หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นเร็วเกินไป

โดยกำหนดกรอบบนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไว้ไม่เกิน 0.25% ในขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 0.24%

และล่าสุดรัฐสภาญี่ปุ่นได้อนุมัติงบประมาณแผ่นดินสำหรับปีงบประมาณ 2565 ด้วยวงเงินสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เปิดโอกาสให้รัฐบาลญี่ปุ่นสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ เพื่อลดผลกระทบจากราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น อันเป็นผลสืบเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

นอกจากนั้น ค่าเงินเยนที่ยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่า เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังคงปรับตัวขึ้นได้ เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีแหล่งรายได้จากนอกประเทศ

สำหรับจีน รัฐบาลประกาศจุดยืนที่ชัดเจนว่า จะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางนโยบายการเงินและการคลังเพื่อให้เศรษฐกิจจีนสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 5.5% ในปีนี้

ในขณะเดียวกันเรามองว่า ความเสี่ยงในด้านกฎเกณฑ์ (regulatory risk) ของจีนได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว หลังจากออกมาตรการควบคุมการดำเนินกิจการของภาคเอกชนอย่างเข้มข้นในปีที่แล้ว และคาดว่าตลาดหุ้นจีนจะสามารถกลับมา outperform ได้ในช่วงหลังจากนี้ โดย Bloomberg Consensus คาดการณ์ว่า EPS growth ของจีน A-shares ในปีนี้ จะสามารถเติบโตได้ถึง 18%

ส่วนเวียดนามได้ชื่อว่าเป็นดาวรุ่งแห่งเอเชียอาคเนย์จากแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดด เวียดนามกำลังก้าวขึ้นสู่การเป็นแหล่งผลิตสินค้าของโลก

โดยเราจะเห็นว่า ชาติตะวันตกย้ายฐานการผลิตไปที่เวียดนามอย่างต่อเนื่อง จากความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำ และสิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศที่หลากหลาย โดยธนาคารกลางโลก (World Bank) คาดการณ์ว่า GDP เวียดนามปีนี้จะขยายตัวได้ 5.5%

ในขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองว่า GDP เวียดนามในปีนี้จะเติบโตได้ถึง 6.6% เทียบกับปี 2564 GDP เวียดนามเติบโตที่ 2.6%

นอกจากนี้ Bloomberg Consensus ยังคาดว่า ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนเวียดนามจะเติบโตถึง 26% ในปีนี้ ในแง่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อของเวียดนามถือว่าต่ำมาก โดยอัตราเงินเฟ้อของเวียดนามล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์อยู่ในระดับ 1.42% ซึ่งต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 4% ค่อนข้างมาก ทำให้ธนาคารกลางเวียดนามมีแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป

เรามองว่า การที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมา เป็นโอกาสที่จะเลือกลงทุนในกลุ่มประเทศที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงหลังจากนี้ อันได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม ซึ่งทั้ง 3 ประเทศนี้มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อต่ำ และยังคงมีแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย สวนทางกับตลาดหุ้นฝั่งตะวันตก อย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป