หลากคำถามคาใจ… “มิชลิน ไกด์-สตรีตฟู้ด”

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]

แม้จะประกาศผลกันไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับโครงการจัดทำ “มิชลิน ไกด์” ฉบับกรุงเทพฯ (MICHELIN Guide Bangkok) หนึ่งในโครงการของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่มีเป้าหมายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารและเพิ่มรายได้จากการจับจ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยว

เพราะการเก็บข้อมูลของ ททท.พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอาหารขึ้นชื่อจำนวนมาก บวกกับยังมีผลสำรวจว่า กว่า 86% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อยากมากินอาหารไทย โดยคาดหวังว่าโครงการนี้จะตอบโจทย์ของ ททท. ที่มีเป้าหมายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นเมืองหลวงอาหารแห่งเอเชีย หรือ Gastronomy Capital of Asia

จึงมองว่า การว่าจ้างให้ “มิชลิน” มาจัดทำ “มิชลิน ไกด์” ด้วยการให้ดาว หรือ “มิชลิน สตาร์” กับร้านอาหารในกรุงเทพฯ ของไทยครั้งนี้จะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยย้ำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรับรู้ว่า “กรุงเทพฯ” เป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีความโดดเด่นด้านอาหารของเอเชีย

ที่สำคัญ ไม่ได้แพ้เมืองหลักอย่างสิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ โซล ฮ่องกง โตเกียว เกียวโต โอซากา ฯลฯ ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเมืองเหล่านี้ “มิชลิน” ได้เข้าไปให้ดาวแล้วทั้งสิ้น

ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการแข่งขันในจุดนี้ การว่าจ้าง “มิชลิน” มาทำ “มิชลิน ไกด์” กรุงเทพฯ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะใคร ๆ ทั่วโลกก็ทำกัน

ซึ่งจากข้อมูลระบุว่า ประเทศไทยเป็นลำดับที่ 29 ของโลก เป็นลำดับที่ 6 ในเอเชีย และลำดับที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ต่อจากสิงคโปร์) และนักท่องเที่ยวทั่วโลกก็รู้จัก “มิชลิน ไกด์” เป็นอย่างดีอยู่แล้ว

แต่กระแสหลังจากที่มีการประกาศผลร้านอาหารของไทย (ในกรุงเทพฯ) ที่ได้รับ “มิชลิน สตาร์” ไปเรียบร้อย กลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก บางส่วนบอกว่า ในแต่ละปีประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะแยะอยู่แล้ว ไม่เห็นมีความจำเป็นจะต้องไปว่าจ้างมิชลินมาทำ บางส่วนก็มองว่า ททท. และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า ฯลฯ

ที่หนักสุด คือ หลายคนตั้งคำถามว่า อะไรคือ “สตรีตฟู้ด” ของเมืองไทยการที่มิชลิน ไกด์ ให้ดาว “มิชลิน สตาร์” แม้จะแค่ 1 ดาว กับ ร้านเจ้ไฝ ประตูผี นั้นมันใช่ ? เพราะหากประเมินหลายส่วนรวมกันแล้ว กลุ่มนี้มองว่า “ร้านเจ้ไฝ” ไม่ควรจัดให้อยู่ในเซ็กเมนต์ของ “สตรีตฟู้ด”

เพราะ “สตรีตฟู้ด” ที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ หรือ ททท. ให้การสนับสนุนและจัดระเบียบกันอยู่นั้น ได้โฟกัสไปที่ร้านอาหารข้างทาง และร้านอาหารจำพวกรถเข็น ร้านค้าแผงลอย เป็นหลัก ที่สำคัญ ต้องเป็นร้านอาหารที่ “ราคาถูก” เพื่อดึงดูดให้ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวเข้าถึง หากเข้าใจในคำจำกัดความนี้ “สตรีตฟู้ด” ที่น่าจะได้รางวัล หรือส่งเสริม น่าจะอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวหลัก ๆ อย่างย่านถนนเยาวราช หรือถนนข้าวสาร มากกว่า “ร้านเจ้ไฝ” หรือไม่

เพราะราคาเมนูอาหารร้านเจ้ไฝนั้นถูกกล่าวขานว่าเป็นร้านที่แพงหลุดโลก แพงกว่าภัตตาคารหรูในโรงแรม 5 ดาว หรือในห้างสรรพสินค้าชั้นนำอยู่หลายเท่าตัว และเชื่อว่าหากนักท่องเที่ยวมาตามบุ๊กไกด์ของ “มิชลิน ไกด์” กรุงเทพฯ แล้วหลงเดินเข้ามาร้านเจ้ไฝ คงเข็ดไปจนตาย หรือไม่ก็ขอแค่ครั้งเดียวพอ

ในประเด็นนี้ ผู้เขียนมองว่า ถ้ามองกันแบบแฟร์ ๆ การใช้งบประมาณ 144 ล้านบาท (5 ปี) หรือเฉลี่ยประมาณ 28.8 ล้านบาทต่อปี สำหรับจ้างให้มิชลินมาทำ “มิชลิน ไกด์” ให้ประเทศไทยนั้น ถือว่าใช้จิ๊บจ๊อยมากหากเทียบกับโครงการอื่น ๆ

เพราะ “มิชลิน ไกด์” เป็นเสมือนเครื่องหมายเชิงสัญลักษณ์ของเมืองที่มีความโดดเด่นด้านอาหาร ถ้าไทยไม่ทำ เราก็จะไม่มีดัชนีชี้วัดจุดขายด้านอาหารที่เป็นสากลเหมือนประเทศอื่น ๆ

นั่นหมายความว่า เราก็จะพูดอยู่คนเดียวว่า “ไทยเป็นเมืองอาหาร” และการเดินหน้าสู่ที่มีเป้าหมายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นเมืองหลวงอาหารแห่งเอเชีย หรือ Gastronomy Capital of Asia ก็จะเป็นการพูดเอง เคลมเอง

ส่วนประเด็น อะไรคือ “สตรีตฟู้ด” นี่ยากที่จะสรุปจริง ๆ เพราะทาง ททท.ยืนยันว่า “ร้านเจ้ไฝ” ที่คว้าดาวมิชลินไปนั้น ถึงแม้จะแพงแบบใครหลงไปต้องหงายหลังทุกราย แต่ร้านของเจ้เป็นตึกแถวตั้งอยู่ริมถนน จึงจัดอยู่ใน “สตรีตฟู้ด” ของกรุงเทพฯเช่นกัน

ผู้เขียนจึงขอแนะนำแค่ว่า สำหรับกลุ่มคนไทยแล้ว ใครที่จะไปชิมอาหารตาม “มิชลิน ไกด์” กรุงเทพฯ เพื่อความปลอดภัยของกระเป๋าสตังค์ ควรศึกษาในรายละเอียดอย่างรอบคอบอีกครั้งหนึ่งด้วย…