ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องตอบโจทย์ทุกมิติ

บทบรรณาธิการ

แม้กระทรวงแรงงานจะยืนยันชัดเจนว่าปี 2561 ผู้ใช้แรงงานจะได้รับข่าวดีมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ยังต้องลุ้นว่าที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง หรือบอร์ดไตรภาคีจะไฟเขียวให้ปรับขึ้นมากน้อยเพียงใดและในจังหวัดใดบ้างเพราะเดิมบอร์ดไตรภาคีมีกำหนดจะหารือเรื่องนี้ วันที่ 13 ธ.ค. 2560 แต่เวลาล่วงเลยมาจนถึงใกล้สิ้นปีก็ยังไม่มีความคืบหน้า แถมมีแนวโน้มว่าลูกจ้างอาจรอเก้อ ต้องเลื่อนชี้ขาดการขึ้นค่าจ้างไปพิจารณาช่วงเดือน ม.ค. 2561

ทั้ง ๆ ที่ตามหลักการแล้ว การประกาศค่าแรงขั้นต่ำต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. จากนั้นค่อยประกาศให้มีผลอย่างเป็นทางการช่วงปลายปี แต่ปีนี้กลับล่าช้าจนผู้ใช้แรงงานต้องออกโรงทวงสัญญารอบแล้วรอบเล่า เพราะหวั่นเกรงว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะไม่มาตามนัดเมื่อไล่เรียงย้อนหลัง พบว่าการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้ง

ล่าสุด ช่วงปลายปี 2559 มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 5-10 บาท/วัน ใน 69 จังหวัด ส่วนอีก 8 จังหวัดที่เหลือยังรับค่าจ้างในอัตราเดิมวันละ 300 บาท มาตั้งแต่ต้นปี 2556 สวนทางกับค่าครองชีพและราคาสินค้าที่พุ่งขึ้นไม่หยุด

ข้อเรียกร้องของตัวแทนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กับตัวแทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ที่ต้องการให้ขึ้นค่าแรงรอบใหม่จึงถือว่ามีเหตุผล แม้ข้อเสนอให้ปรับค่าจ้างเป็น 600-700 บาท/วัน ยากที่ฝ่ายนายจ้างจะยอมรับ ทั้งสองฝ่ายจึงต้องเจรจาให้ได้ข้อสรุปที่เหมาะสมเป็นธรรม

เพราะแม้พิจารณาปัจจัยเศรษฐกิจ กับปัญหาเรื่องปากท้องค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นสูงมาก ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ถึงคราวต้องปรับเพิ่มค่าแรงเพื่อให้ลูกจ้างอยู่ได้ แต่อีกด้านหนึ่งต้องไม่ทำให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างแบกรับภาระต้นทุนเพิ่มมากเกินไป

บอร์ดไตรภาคีค่าจ้างจึงต้องขบคิดให้รอบด้าน โดยนำทุกปัจจัยมาประกอบการพิจารณา ชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสีย ผลกระทบทั้งบวกและลบ ก่อนตัดสินใจว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแต่ละจังหวัดมากน้อยเพียงใดจึงจะเหมาะสม ให้ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่นายจ้างก็อยู่ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายกลางรายเล็กหรือเอสเอ็มอี ที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุน และคาดหวังให้เป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนผลักดันเศรษฐกิจตั้งแต่ฐานราก

ภารกิจที่ต้องดำเนินการควบคู่กันจากนี้ไป จึงมีทั้งต้องทำให้นายจ้างเข้มแข็ง และให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น มิฉะนั้นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะไม่ตอบโจทย์ของทั้งสองฝ่าย และไม่ได้เกื้อหนุนให้เศรษฐกิจในภาพรวมเติบโตได้ในระยะยาว