Digital Twin คู่แฝดดิจิทัลเสมือน ขับเคลื่อนภาคธุรกิจ

คอลัมน์ : ระดมสมอง
ผู้เขียน : กิตติศักด์ กวีกิจมณี
Krungthai COMPASS

digital twin คือการจำลองวัตถุหรือสิ่งแวดล้อมทางกายภาพในโลกความเป็นจริง ให้กลายเป็นวัตถุเสมือนอยู่บนโลกดิจิทัล หรือ Metaverse ซึ่งวัตถุกายภาพและคู่แฝดดิจิทัลนี้จะสามารถทำงานประสานกันได้ด้วยระบบข้อมูลที่มีการเชื่อมต่อและสื่อสารระหว่างกันแบบเรียลไทม์ โดย Markets and Markets Research ได้คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดของ digital twin ทั่วโลกจะเติบโตถึง 4.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2026 จาก 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020

และจากการสำรวจผู้ประกอบการทั่วโลกของ Gartner คาดว่าภายในปี 2023 ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่กว่า 1 ใน 3 ที่มีการใช้ internet of things (IOT) ในกระบวนการผลิตอยู่เดิมจะเริ่มมีการนำ digital twin solutions มาปรับใช้ในกิจการ

digital twin สามารถช่วยสนับสนุนกระบวนการทำงานของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้สินทรัพย์ทางกายภาพในการผลิตอย่างเข้มข้น (asset-intensive industries) ในข้อแรก digital twin จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต เช่น BMW ได้ร่วมมือกับ NVIDIA ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Omniverse เพื่อจำลอง digital twin ของโรงงานผลิต ทำให้ช่วยร่นระยะเวลาและต้นทุนของการผลิตรถยนต์ ข้อสอง ช่วยอำนวยความสะดวกในกระบวนการออกแบบชิ้นงาน การวิจัยและพัฒนา เช่น บริษัท Airbus ใช้ digital twin ช่วยทดสอบประสิทธิภาพและข้อผิดพลาด (error) ของเครื่องบินที่จำลองอยู่ใน digital twin ก่อนที่จะผลิตจริง

ข้อสาม digital twin ช่วยลดต้นทุนการซ่อมบำรุงและดูแลรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิต เช่น บริษัท Shell ในไนจีเรียใช้ digital twin เพื่อช่วยวิเคราะห์อายุการใช้งานของเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตที่แม่นยำกว่าการใช้ซอฟต์แวร์ simulation ทั่วไป และข้อสุดท้าย digital twin ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลสภาพแวดล้อมภายในอาคารแบบเรียลไทม์ และนำไปสู่การปรับสภาพแวดล้อมของอาคารตามความต้องการของผู้ใช้และประหยัดพลังงานมากขึ้น

โดย Ernst & Young ได้ประมาณการว่า การใช้ digital twin จะช่วยลดต้นทุนการดูแลรักษาและบริหารจัดการอาคารได้ 35% และลดการปลดปล่อยคาร์บอนจากอาคารได้ถึง 50%

ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลชั้นนำของโลกหลายแห่ง ได้เริ่มเปิดตัวให้บริการ digital twin solutions แก่ลูกค้าภาคอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลายมากขึ้น เช่น Amazon Web Services ให้บริการ AWS IOT TwinMaker เพื่อจำลอง digital twin ของอาคาร โรงงาน กระบวนการผลิต และอุปกรณ์เครื่องมือการผลิต

ส่วน IBM เปิดตัวแพลตฟอร์ม IBM Digital Twin Exchange แก่กลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์ตามแบบมาตรฐาน (Original Equipment Manufacturer-OEM) ให้สามารถอัพโหลดข้อมูลผลิตภัณฑ์ของตนในรูปแบบ digital twin เข้าสู่แพลตฟอร์มเพื่อให้ลูกค้าของผลิตภัณฑ์นั้นสามารถค้นหาข้อมูลและดาวน์โหลดนำไปเพื่อใช้ในองค์กรได้ ส่วน Google ให้บริการระบบ supply chain twin แก่ลูกค้าภาคธุรกิจเพื่อยกระดับประสิทธิภาพจัดการห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่การจัดหาซัพพลายเออร์ การวางแผน การกระจายสินค้าและโลจิสติกส์

สำหรับในประเทศไทยนั้น digital twin ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นวางแผนเพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้จริงในอนาคต ซึ่งการประยุกต์ใช้งานส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานหรืออสังหาริมทรัพย์ เช่น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีแผนจะสร้างโลกนิคมอุตสาหกรรมแบบ digital twin เพื่อช่วยสนับสนุนการบริหารพื้นที่การนิคมฯ เช่น การรับมือกับอัคคีภัย การพัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วม

นอกจากนี้ เราเริ่มเห็นแผนการใช้ digital twin ในอุตสาหกรรมการผลิตบ้าง เช่น SCG Chemicals มีแผนที่จะใช้ digital twin จำลองเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตของโรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ เพื่อให้สามารถรับมือและปรับปรุงแก้ไขได้ล่วงหน้า

การใช้ประโยชน์ digital twin ในภาคอุตสาหกรรมของไทยยังมีช่องว่างอีกมาก ภาครัฐควรมีมาตรการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงโอกาสในการใช้ประโยชน์จาก digital twin ในการดำเนินกิจการมากขึ้น เช่น การส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ การเร่งพัฒนาผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง และอาจให้ทุนสนับสนุนภาคธุรกิจเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility study) ในการนำ digital twin มาปรับใช้จริงในกิจการเพื่อเร่งให้เกิด use case ที่ประสบความสำเร็จจริง ซึ่งจะกระตุ้นอุปสงค์การใช้เทคโนโลยีนี้ให้เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วต่อไป