2 เรื่องเดือนพฤษภาฯ

เปิดเทอม
บทบรรณาธิการ

สัปดาห์ที่พ้นกลางเดือนพฤษภาคม นอกจากเป็นช่วงเปิดภาคเรียนของเยาวชนแล้ว ยังเป็นช่วงเวลารำลึกเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองด้วย

สองเรื่องนี้อาจดูเป็นคนละประเด็นกัน แต่กลับเชื่อมโยงกันด้วยเรื่องเศรษฐกิจ

การที่เด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาเกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ทั้งกับตัวเด็กเอง ผู้ปกครองพ่อแม่ ครู โรงเรียน รัฐบาล ฯลฯ โดยเฉพาะในปีนี้เป็นการเปิดเรียนที่เด็กมีโอกาสกลับเข้าสู่โรงเรียน
สิ่งที่มักเกิดขึ้นพร้อมกับการเปิดภาคเรียน คือการที่บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองต้องหาเงินทุนให้ลูกเป็นค่าเทอมและปัจจัยโดยรอบ รวมถึงเรื่องค่าเดินทาง ค่าอาหาร อุปกรณ์การเรียน ฯลฯ

ผู้ที่มีฐานะความเป็นอยู่ลำบาก การดิ้นรนในปีนี้ดูจะลำบากไม่น้อยกว่า 2 ปีก่อน แม้ปีนี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด แต่รายได้ของประชาชนยังไม่ฟื้น หรือฟื้นตัวไม่เต็มที่ หลายคนจึงต้องกู้ยืม หรือจำนำ

ยิ่งเมื่อเศรษฐกิจโดยรวมของโลกและของประเทศได้รับผลกระทบหนักจากราคาพลังงานที่มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นแรงกดดันหลัก

บรรดาสถาบันการเงินต่าง ๆ ต่างปรับลดตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งของโลกและของแต่ละประเทศลง รวมถึงสภาพัฒน์ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2565 อยู่ที่ราว 2.5-3.5% ปรับลดลงมาจากคาดการณ์เดิม 3.5-4.5%

เมื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจยังมีอุปสรรค ข้าวของแพงขึ้น บวกภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้น การผ่อนชำระหนี้หรือปลดหนี้ของหลายครอบครัวในช่วงเวลานี้จึงหาทางออกได้ยาก

โดยเฉพาะกลุ่มที่เผชิญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจมาก่อนสถานการณ์โควิด ซึ่งนับย้อนไปได้ถึงเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาฯ 2557

เหตุการณ์รัฐประหารแต่ละครั้งนอกจากรั้งพัฒนาการด้านประชาธิปไตย เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ยังส่งผลให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงตามมา

วาระการรำลึกเหตุการณ์โศกนาฏกรรมทางการเมืองทั้งพฤษภาฯ 35 ที่ผ่านมาครบ 30 ปี และพฤษภาฯ 53 นอกจากสร้างบาดแผลให้ผู้สูญเสีย ยังมีส่วนตอกย้ำว่าอำนาจนิยมที่บั่นทอนประชาธิปไตย ยิ่งทำให้สังคม
ขัดแย้งมากขึ้น เหลื่อมล้ำมากขึ้น และขาดพลังที่ร่วมกันขับเคลื่อนประเทศในด้านต่าง ๆ รวมถึงด้านเศรษฐกิจ


เมื่อประเทศเผชิญปัญหาและอุปสรรคใหญ่ ๆ จากปัจจัยภายนอก ภาคการเมืองจึงทำได้แค่ตั้งรับสถานการณ์เฉพาะหน้า และไม่มีทางเลือกมากนัก หนทางจำกัดนี้เหมือนกับกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องนำทรัพย์สิน หรือทองไปจำนำ เพื่อหาทุนให้ลูกไปโรงเรียน