7 บิ๊กมูฟ “Thailand Dream”

ศุภชัย เจียรวนนท์
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ดิษนีย์ นาคเจริญ

ชัดเจนว่าโควิดผลักดันให้เราใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากขึ้นมาก ทั้งในชีวิตประจำวัน และการทำงาน ไม่ใช่เรื่องเกินจริง ถ้าจะบอกว่าเราอยู่กับเทคโนโลยีดิจิทัลแทบตลอดเวลา เรียกว่าเกือบจะในวินาทีแรก ๆ ที่ตื่น และก่อนเข้านอนในแต่ละคืน “สมาร์ทโฟน” จึงเป็นได้แทบทุกสิ่ง

ในอดีต “ทองคำ” อาจเป็นตัวแทนแสดงถึงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ จาก “ทองคำ” มาเป็น “น้ำมัน” แต่ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล 5.0 คำตอบคือ “เทคโนโลยี” มีแค่ “ข้อมูล” จะแค่ 4.0 แต่ถ้าจะไปไกลกว่านั้น ต้องมี “เทคโนโลยี” เช่น เทคโนโลยี “เอไอ-ปัญญาประดิษฐ์” ที่เชื่อมโยงกับอุปกรณ์ทั้งหมดในโลก แม้แต่ขีปนาวุธ

ในมุมมองของ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ซีอีโอเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) “เทคโนโลยี” จึงเปรียบได้กับ “New Gold”

ไม่แปลกที่สงครามการค้ายุคใหม่ของ 2 มหาอำนาจของโลก “จีน-สหรัฐ” จะมุ่งไปยังการแย่งชิงความเป็นนำด้านเทคโนโลยี

“ศุภชัย” กล่าวในงานสัมมนา Enhance the dots ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พูดถึงโลกปัจจุบันที่เผชิญความท้าทายหลายด้าน ตั้งแต่โควิด-19 ที่นำไปสู่นิวนอร์มอล, อัตราเงินเฟ้อขั้นรุนแรง, เศรษฐกิจโลกที่แบ่งเป็น 2 ขั้ว, ภาวะโลกร้อน รวมถึงเรื่องการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital Transformation ที่เป็นทั้งความท้าทาย และความหวังว่าจะเป็นตัวช่วยคลี่คลายสารพัดปัญหา ยกเว้นเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics)

สำหรับประเทศไทยการจะเดินไปสู่ยุคของความมั่นคงใหม่ หรือยุค 5.0 สิ่งสำคัญจะต้องสร้างระบบนิเวศ ซึ่งเป็นประเด็นเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมั่งคั่ง โดยการเปลี่ยนแปลงใน 8 เรื่อง สำคัญคือ

1.การวางโพซิชั่นให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาค (Tech Hub) เริ่มจากเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์ไปสู่ EV

“เพราะอีวีไม่ได้มีแค่รถยนต์ แต่มาพร้อมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีแบตเตอรี่ พลังงานทดแทน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น คลาวด์ ที่ต่อยอดไปสู่เทคโนโลยีอื่น ทั้งเอไอ และไอโอทีได้”

2.เป็นศูนย์กลางการขนส่งและการเงินของภูมิภาค

“รถไฟไทย-จีนถ้าสำเร็จจะเชื่อมโยงอีอีซีให้สำเร็จไปด้วย เมื่อเป็นโลจิสติกส์ฮับแล้ว สิ่งที่ตามมาคือการเป็นฮับทางการค้าของภูมิภาค เชื่อมไทย จีน และอาเซียน เข้าด้วยกัน”

3.การเป็นศูนย์กลางความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรไปสู่ Smart Agro Industry

4.การเตรียม “คน” ให้พร้อม สร้างแรงงานแห่งอนาคตที่มีทักษะด้านดิจิทัล โดยส่งเสริมให้เกิด “สตาร์ตอัพ” 2 หมื่นราย ภายใน 5 ปี จะสร้างงานได้กว่า 1 ล้านคน (คิดจาก 1 สตาร์ตอัพ มีการจ้างงาน 50 คน) และในจำนวนเหล่านั้นมีทั้ง นวัตกร วิศวกร โปรแกรมเมอร์ ที่จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

5.การสร้างเมืองหรือหมู่บ้านอัจฉริยะ (Smart Town, Smart Village) ถือเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้เกิดเศรษฐกิจใหม่ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้น

6.World Political Neutrality ในภาวะการเมืองโลกที่แบ่งเศรษฐกิจเป็นสองขั้ว ไทยควรอยู่ตรงกลาง ทำหน้าที่ประสานประโยชน์ให้ทุกฝ่าย

7.State Transformation ทำให้ข้าราชการตำแหน่งบริหารมีรายได้สูงกว่าเอกชน เพื่อดึงคนเก่งมาทำงานในระบบราชการ

สุดท้าย เรื่องที่ 8 คือ Thailand Sustainable Dream

“คำว่า อเมริกันดรีม ที่เราเคยได้ยินเมื่อ 30-40 ปีก่อน คือการมีบ้าน มีรถ มีงาน มีความมั่นคงในชีวิต ไม่นานมานี้ จีนก็บอกว่า ไชน่าดรีม จะทำเรื่องคุณภาพชีวิต และสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าประเทศต้องก้าวไปสู่สิ่งที่สวยงาม และดีกว่า ล่าสุดผมเจอท่านทูตเวียดนามก็พูดถึงเวียดนาม Inspiration”

ซีอีโอเครือ ซี.พี. ตั้งคำถามถึงความฝันของประเทศไทย

“ไม่ว่าเราจะบอกว่า netZero, Zero crime, Zero waste, Zero Unemployment เป็นไปได้ไหม หลายคนฟังแล้วอาจคิดว่าเพ้อฝัน แต่ผมคิดว่าเราควรตั้งเป้าหมายร่วมกัน และสร้างความฝันว่าประเทศไทยจะไปถึงจุดไหน อาจขมวดปมเอาสิ่งที่ผมพูดไปในการทรานส์ฟอร์เมชั่น 6-7 ข้อ มาเป็นความฝันที่จะตั้งร่วมกัน เชื่อว่าเราอาจจะกำหนดเป้าหมาย หรือสิ่งที่ต้องการจะไปได้”

“ศุภชัย” ทิ้งท้ายว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่าง ๆ “บริษัทที่ไม่ปรับตัวจะขาดทุน และปิดตัวในที่สุด แต่บริษัทที่เสมอตัวคือบริษัทที่ทำเรื่องการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสำเร็จ แต่ในข้อเท็จจริงที่เห็น บริษัทที่เติบโตและกำไรเพิ่มพูนอย่างต่อเนื่องในช่วงวิกฤตโควิด คือบริษัทด้านเทคโนโลยี”

และประเทศก็ไม่ต่างกัน ถามว่า “แล้วเราจะทุ่มเวลา และความพยายามของเราไปในเรื่องอะไร”