หนี้เสียพุ่ง-ว่างงานล้น

สกู๊ป-ว่างงาน-608x420
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ช่วงเปิดเทอมที่ผ่านมาประเทศไทยยังคงเห็นภาพเดิม ๆ ที่ผู้ปกครองนำทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ แห่เข้าโรงจำนำเพื่อนำเงินออกมาจ่ายค่าเทอม จึงยิ่งตอกย้ำถึงปัญหาหนี้สิน รายจ่ายมากกว่ารายได้ที่คนไทยเผชิญมายาวนาน โดยเฉพาะในช่วงหลายปีหลังที่เศรษฐกิจไทยทรง ๆ ทรุด ๆ กระทั่งมาเจอหนัก ๆ กับพิษโควิด-19 และซ้ำดาบสองด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครน

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ พบว่าหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 4/2564 ตัวเลขอยู่ที่ 14.6 ล้านล้านบาท ขยายตัวที่ 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 คิดเป็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP อยู่ที่ระดับ 90.1% ยิ่งเมื่อดูสถานการณ์ในต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบันที่สาหัสจากสงคราม เงินเฟ้อทั่วโลก รวมถึงไทย

บวกกับการขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนในระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 4/2564 บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวระดับสูง แสดงถึงแนวโน้มการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายทดแทนสภาพคล่องที่หายไปตามรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัว ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคพาเหรดขึ้นราคากันถ้วนหน้าจากเงินเฟ้อ ราคาพลังงานอยู่ในระดับสูง จึงคาดการณ์ได้เลยว่าปีนี้ตัวเลขจะพุ่งขึ้นอีก

ยิ่งตอกย้ำกับการประเมินว่าปีนี้ธนาคารจะตัดขายหนี้เสียราว ๆ 2 แสนล้านบาทจากยอดเอ็นพีแอล หรือหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระบบของไตรมาสแรก 2565 ราว ๆ 5 แสนล้านบาท ซึ่งหนี้ 5 แสนล้านบาทเป็นการกดตัวเลขต่ำกว่าควรจะเป็น เพราะช่วงโควิดธนาคารผ่อนปรนยืดเวลาการชำระหนี้ออกไป หาไม่แล้วจำนวนยอดเอ็นพีแอลน่าจะมากกว่านี้

อีกประเด็นที่เริ่มส่งผลกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจไม่พ้นการว่างงาน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กจบใหม่ จากตัวเลขธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าการว่างงานของเด็กจบใหม่ หรือการว่างงานของกลุ่มเยาวชนช่วงอายุ 15-24 ปี มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากภาวะปกติเกือบแสนคน ปัจจัยหลัก ๆ มาจากตำแหน่งงานว่างไม่สอดคล้องกับทักษะ วุฒิการศึกษา และค่านิยมของเด็กจบใหม่

ตัวเลขไตรมาส 2/2564 เด็กจบใหม่มีสถิติว่างงานถึง 2.9 แสนคน คิดเป็นการว่างงานสูงถึง 7.2% มากกว่าอัตราว่างงานของแรงงานทั้งหมดซึ่งอยู่ที่ 1.6% หากคนกลุ่มนี้ว่างงานยาวนาน 2-3 ปี จะยิ่งส่งผลให้เข้าสู่ตลาดแรงงานยากขึ้น ประกอบกับยังมีเด็กจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานราว 4-5 แสนคนในแต่ละปี อีกทั้งภาคธุรกิจมีแนวโน้มลดการใช้คน ทำให้ตลาดแรงงานในอนาคตยิ่งน่ากังวล

ทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือน-หนี้เสีย และอัตราการว่างงานของเด็กจบใหม่ เป็นการบ้านข้อใหญ่ที่รัฐบาลแก้ไม่ตกเสียที จึงไม่ต่างจากระเบิดเวลาที่ต้องเร่งปลดชนวนก่อนที่ทุกอย่างจะยิ่งย่ำแย่ไปมากกว่านี้